ผักกาดหอม
พับผ่าซิ!
“ลุงป้อม” นี่ใจบันดาลแรงของแท้จริงๆ
ต๊กกะใจ จู่ๆ เพจ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ของ “ลุงป้อม” โพสต์จั่วหัว “จัดตั้งรัฐบาล” อย่างไร
ยังไม่ทันเลือกตั้ง จะตั้งรัฐบาลกันแล้วหรือ
แต่…มองอีกมุม ก็น่าสนใจทำไมจู่ๆ “ลุงป้อม” ถึงออกมาพูดเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล
แสดงว่ามันต้องพิเศษบะหมี่สี่ก้อนแน่ๆ
เนื้อหาที่โพสต์ มีนัยสำคัญทางการเมือง ที่จะบ่งบอกถึงโฉมหน้ารัฐบาลถัดไปเลยทีเดียวครับ
….ดูจะยังเป็นประเด็นสับสน เกิดการพูดต่อๆ กันไปมากว่า “พลังประชารัฐ” คิดอย่างไรกับการ “จัดตั้งรัฐบาล”
การเมืองไทยตอนนี้มีความซับซ้อนครับ ผมจะค่อยๆอธิบายให้ฟัง ว่าเกิดอะไรขึ้น และผมคิดว่า
“การจัดตั้งรัฐบาล” ควรจะทำอย่างไร
ที่ว่า “การเมืองไทยขณะนี้ซับซ้อน” เพราะมีหลายปัจจัยที่นำมาใช้กำหนดความเป็นไปของอำนาจทางการเมืองในทุกเรื่อง
ตรงนี้มาพูดกันเฉพาะเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล
จะจัดตั้งกันอย่างไร ต้องเริ่มจาก “ผลการเลือกตั้ง”
มาดูกันว่าประชาชนเลือกพรรคไหนมาเท่าไร แต่ละพรรคมี ส.ส.ได้รับเลือกเข้ามากี่คน เห็นตัวเลขแต่ละพรรคแล้ววางไว้ก่อน
มาสู่ขั้นตอน เปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่า ๒๕ คน
และได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา อันหมายถึง ส.ส.และ ส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คือประมาณ ๓๗๖ คน
ขั้นตอนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นขั้นตอนที่เป็นทางการขั้นตอนแรก
หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งรัฐบาล เป็นการหาความตกลงร่วมกันว่าพรรคไหนจะร่วมกับพรรคไหน ในวิถีที่ควรจะเป็น
คือ จะต้องรวมกันแล้วมีเสียง ส.ส.อย่างน้อยมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือเกินกว่า ๒๕๐ เสียง
ต้องพยายามหาทางให้เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากที่สุด คือเสียง ส.ส.ร่วมสนับสนุนมากเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น
หากได้รับโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ได้ แต่คงไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนอยากให้เป็นรัฐบาลแบบนี้
ขั้นตอนอย่างเป็นทางการเริ่มต้นอย่างนั้น ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน…
ครับ…จดหมาย “ลุงป้อม” ท่อนแรกนี้ เป็นการยืนยันอีกครั้งว่า พรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับที่ ๑ มีสิทธิ์เป็นฝ่ายค้าน อย่างที่พรรคเพื่อไทย เคยเป็นก่อนหน้านี้
สูตรตั้งรัฐบาลของ “ลุงป้อม” ใครรวมเสียงได้มากกว่า คือเกินครึ่ง ก็มีสิทธิ์ตั้งรัฐบาล
สูตรนี้ หาก พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ รวมเสียงแล้วเกิน ๒๕๐ เสียง ก็จะเป็นรัฐบาลเดิม
แต่นายกรัฐมนตรีเป็นใคร อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง ว่าพรรคไหนได้ ส.ส.มากกว่า
จดหมายท่อนถัดมา “ลุงป้อม” บอกว่า
…แต่ในทางปฏิบัติจริง มีประเด็นที่ต้องมาพิจารณาซับซ้อนกว่านั้น
ไม่ว่าจะเป็น ความชอบธรรมของพรรคการเมือง ที่ได้ส.ส.มากที่สุด ต้องมีสิทธิ์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน
พรรคการเมืองต่างๆ จะแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายกันอย่างไร / ร่วมกับใครแล้วได้รับการตอบสนองข้อเสนอดีกว่า
ใครคือผู้กุมอำนาจที่แท้จริง ระหว่างอำนาจของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง กับอำนาจที่ซ่อนอยู่ในกลไกตามรัฐธรรมนูญ อันไหนมีอิทธิพล หรือสามารถกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า และอื่นๆ อีกมากมาย
หลายเรื่องที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจเป็นเงื่อนไขที่ยังไม่เกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ
คนที่มีประสบการณ์การเมืองจะรู้ว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้งที่ผ่านมา ล้วนมีเรื่องราวที่แปรเปลี่ยนไปไม่เคยเป็นไปอย่างที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงทั้งนั้น…
ใช่ครับในทางปฏิบัติมันซับซ้อน แต่ “ลุงป้อม” ก็มีความคิดซับซ้อนเช่นกัน
ท่อนนี้ “ลุงป้อม” บอกว่าพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ในทางปฏิบัติที่ลึกไปกว่านั้น หลังเลือกตั้ง ทุกพรรคล้วนพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลกัน ไม่มีใครคุยก่อนคุยหลัง
เพียงแต่ทุกสายตาจะมองไปที่พรรคอันดับ ๑ ว่าสามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็จบข่าว
แต่ “ลุงป้อม” ก็ยังไม่พูดถึง ส.ว. ๒๕๐ คน เพราะนี่คือตัวแปรสำคัญ ที่จะกำหนดว่าใครจะเป็นนายกฯ
มาถึงท่อนไฮไลต์ของจดหมาย “ลุงป้อม” บอกว่า…
…ดังนั้นคำถามตอบว่า “พรรคพลังประชารัฐจะจัดตั้งรัฐบาลแบบไหน อย่างไร จะร่วมกับใคร พรรคไหน”
จึงเป็นเรื่องที่ต้องรอให้ตามขั้นตอนที่เหมาะสม ด้วยเงื่อนไขเฉพาะหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาอย่างรอบคอบ และต้องเป็นไปในนาม “มติพรรค”
ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาประกาศตัดสิน จะไม่เป็นเช่นนั้น
หากจะมีความเด็ดขาดแน่นอนก็คือ “พลังประชารัฐ” จะตัดสินใจทุกเรื่อง ทุกอย่างด้วยเหตุผลต้องร่วมกัน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” …
อ้าซ่าครับ!
แบบนี้ “ลุงป้อม” ไม่ได้ยึดติดอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เพราะพร้อมที่จะ “ก้าวข้าม”
ฉะนั้นโอกาสที่สูตรตั้งรัฐบาล จะเป็น เพื่อไทย จับมือ พลังประชารัฐ มี ส.ว.สนับสนุนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จึงมีความเป็นไปได้สูง
ย้อนกลับไปดูคำให้สัมภาษณ์ของ “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร” ก่อนนี้ไม่กี่วัน
“อุ๊งอิ๊ง” บอกว่า…
…ขอให้ดูหน้าไว้ การรัฐประหารที่เกิดขึ้น ๒ ครั้ง ก็ไม่ได้ชอบ แต่การไม่ตอบตรงๆ เพราะให้เกียรติประชาชน ผลเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น แต่คนที่ทำรัฐประหารมา ถ้าถามว่าอยากจับมือด้วยหรือไม่ เชื่อว่าประชาชนย่อมทราบดี แต่ถ้าจะให้ตอบแบบใช้อารมณ์คงไม่ใช่แนว แต่คำตอบน่าจะชัดเจนอยู่แล้ว…
ความหมายคือ…กั๊ก
ถ้าตั้งธงว่าไม่ร่วมก็ต้องตอบว่าไม่ร่วม ไม่มีเหตุผลใดต้องแบ่งรับแบ่งสู้
ฉะนั้นรัฐบาลหน้า เราอาจได้เห็นการก้าวข้าม
ก้าวข้ามขั้วการเมือง