เพื่อประโยชน์ของรัฐ! รฟม.แจงข้อเท็จจริง เรื่องการคัดเลือกเอกชน โครงการ รฟฟ.สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

ตามที่ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้มีการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ประเด็นความชอบในการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1

ประเด็นนี้ BTSC ได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563

– ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 300/2564 (ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ BTSC ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมและการเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1

– ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 192/2565 พิพากษายกฟ้อง ในข้อหาที่ BTSC ฟ้องว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ฯ เป็นการละเมิด เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ปัจจุบันข้อหานี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์

– สำหรับประเด็นเรื่องคำวินิจฉัยที่พรรคก้าวไกลกล่าวอ้างว่า ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นการกระทำที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ปรากฏในคำพิพากษาคดีดังกล่าวศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้อง และเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ดำเนินการแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าวไม่จำต้องรับฟังความเห็นของเอกชนใหม่ และไม่ทำให้ BTSC ได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการละเมิดต่อ BTSC แต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา

2. ประเด็นการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก

ประเด็นนี้ BTSC ได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 580/2564

– ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงสรุปว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เนื่องจากเหตุผลโดยสรุปดังนี้

1) คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

2) การใช้ดุลพินิจยกเลิกการคัดเลือก เป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อให้โครงการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตามกรอบระยะเวลา อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนในการจัดทำบริการสาธารณะแล้ว

ดังนั้น เมื่อการยกเลิกการคัดเลือกชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ตุลาการผู้แถลงคดีจึงเห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา

3. ประเด็นการกีดกัน BTSC ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่

ประเด็นนี้ BTSC ได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1646/2565

– ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามที่ BTSC ร้องขอ โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า

1) การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนและประกาศเชิญชวนฯ ได้ดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ PPP เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. 2563

2) ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวที่ได้กำหนดคุณสมบัติให้มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธา ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

3) ประกาศเชิญชวนฯ มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563

4) ประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC มิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ จึงรับฟังไม่ได้ว่าประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวเป็นคำสั่งศาลปกครองทั่วไปที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจถือได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถหาผู้รับจ้างงานโยธาเพื่อจัดเตรียมข้อเสนอให้ทันภายในกำหนดเวลาเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงของบริษัท BTSC ผู้ฟ้องคดี ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขภายหลังอันเกิดจากประกาศเชิญชวนฯ ที่พิพาท ประกอบกับหากมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ย่อมจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่บริการสาธารณะ ของ รฟม. ซึ่ง BTSC สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกับเอกชนรายอื่นๆ

4. ประเด็นการพิจารณาคุณสมบัติของ ITD Group

ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 โดยประกาศฯ ดังกล่าว ได้กำหนดว่า เอกชนที่มีลักษณะดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาในโครงการร่วมลงทุน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีข้อสรุปว่า เมื่อได้ผู้ผ่านการคัดเลือก แล้วหากพบว่ามีข้อสงสัยในประเด็นตามประกาศฯ ดังกล่าว จะสอบถามไปยังคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก่อนการประกาศรายชื่อผู้ชนะการคัดเลือกต่อไป ทั้งนี้เมื่อ ITD Group ไม่ได้เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกฯ จึงไม่ต้องดำเนินการใดๆ

5. ประเด็นส่วนต่างของข้อเสนอ 68,613 ล้านบาท ของข้อเสนอ BTSC

รฟม. ขอเรียนชี้แจงว่า แม้ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของ BTSC ตามที่เป็นข่าวนั้น จะมีมูลค่าการให้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ค่อนข้างสูง แต่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน จะต้องมีการประเมินซองข้อเสนออื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และซองข้อเสนอด้านเทคนิค รวมถึงความน่าเชื่อถือของข้อเสนอทางการเงิน เพื่อให้ รฟม. มั่นใจได้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะสามารถดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดต่อประเทศชาติและประชาชนได้จริง มิใช่การพิจารณาเพียงตัวเลขสรุปผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐเท่านั้น

ดังนั้น แม้บริษัทฯ จะนำข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อปี 2563 มาแสดง แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบผลการยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนปัจจุบันได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิคของบริษัทฯ จะผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่ รวมทั้งข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนมีความเป็นไปได้ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือเพียงใด จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าข้อเสนอของ BTSC จะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐจริง

ทั้งนี้ รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการได้ดำเนินการโดยใช้สมมุติฐานทางการเงินตาม MRT Assessment Standardization ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับทุกโครงการที่ รฟม. ดำเนินการมา มิได้เป็นการอุปโลกน์ข้อมูลขึ้นมาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในขั้นตอนการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุด ซึ่งทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นจากเดิมมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท

6. รฟม. ขอยืนยันเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในคดีหมายเลขดำที่ อท30/2564
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษา โดยศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

การแก้ไขหลักเกณฑ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และกรณีที่มีการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ การดำเนินการประกาศเชิญชวนฯและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในมาตรา 35 ถึงมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนตามาตรา 41 เรียบร้อยแล้ว

สำหรับในขั้นตอนต่อไป รฟม. จะรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ BTSC เป็นผู้ฟ้องคดี มาประกอบเรื่องเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป

Written By
More from pp
รมว.สุชาติ สั่ง กพร. ฝึกอบรมอาหาร นำ “ผัดไทย” อาหาร Street Food ยอดฮิตที่คนไทยต้องทำได้
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดฝึกอบรมสาขาประกอบอาหารไทย นำ “ผัดไทย” ให้เป็นเมนูที่ทุกคนต้องทำได้ ช่วยเผยแพร่อาหารไทย ผัดไทย ให้เป็นที่นิยมมากขึ้น
Read More
0 replies on “เพื่อประโยชน์ของรัฐ! รฟม.แจงข้อเท็จจริง เรื่องการคัดเลือกเอกชน โครงการ รฟฟ.สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)”