“ซึมเศร้า” บาดแผลที่มองไม่เห็น แต่รักษาหายได้

ทุก ๆ วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสุขภาพจิตโลก หรือ World Mental Health Day เพื่อให้ทุกคนในโลกได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยทางจิตใจ โดยในประเทศไทยมีการจัดอันดับโรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ “โรคซึมเศร้า” ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคซึมเศร้าทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือบางคนอาจรู้ตัวว่าป่วยแต่ไม่ยอมเข้ารับการรักษา จนทำให้อาการรุนแรงขึ้น

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง หลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน (serotonin) นอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) และโดปามีน (dopamine) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเศร้าหมอง เบื่อหน่าย หมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า และอาจคิดฆ่าตัวตายได้

สาเหตุของโรคซึมเศร้า เกิดจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม,การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง และเหตุการณ์ในชีวิตที่เครียดหรือกระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง การถูกล่วงละเมิด เป็นต้น

อาการโรคซึมเศร้าจะแตกต่างจากความรู้สึกเศร้าโดยทั่วไป คือจะมีอาการเกือบตลอดทั้งวัน และอาการไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ ได้แก่

  • รู้สึกซึมเศร้า หรือกระวนกระวาย
  • สูญเสียความรู้สึกสนุก มีความสุขในการทำกิจกรรมที่เคยชอบ
  • มีความเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมการกิน ความอยากอาหาร อาจมีการลดหรือเพิ่มของน้ำหนักแบบไม่เหมาะสม
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • รู้สึกหมดพลังงาน หมดไฟในการทำสิ่งต่าง ๆ
  • มีอาการทางกาย เช่น ปวดตำแหน่งต่าง ๆ โดยไม่มีสาเหตุที่ทำให้มีอาการอย่างชัดเจน
  • ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง
  • มีปัญหาด้านพฤติกรรมการนอนหลับ
  • ไม่สามารถจดจ่อกับการทำกิจกรรมใด ๆ ได้ ไม่มีสมาธิ
  • ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ แย่ลง
  • มีความรู้สึกผิด หรือรู้สึกไร้ค่า
  • มีความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่

การรักษาโรคซึมเศร้าจิตแพทย์จะเริ่มจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไปจนถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กินอยู่ ประวัติครอบครัว จากนั้นแพทย์จะทำการประเมินว่าควรรักษาในแนวทางใด โดยปัจจุบันมีวิธีการรักษาหลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยา ซึ่งแพทย์จะเริ่มให้ยาขนาดต่ำก่อน จากนั้นนัดติดตามผลการรักษา ก่อนจะปรับขนาดยาขึ้นทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ จนเห็นผลการรักษาที่ดี

ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น อาจต้องกินยาต่อเนื่องอีก 4-6 เดือน จึงค่อยลดขนาดยาลงจนสามารถหยุดยาได้ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ, การรักษาด้วยจิตบำบัด และการรักษาด้วย TMS เป็นการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นสมองในจุดที่มีผลต่อโรค เพื่อปรับสมดุลการทำงานของสมองให้เข้าสู่ภาวะปกติและช่วยลดอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีผลข้างเคียงจากยา ไม่ตอบสนองต่อยา หรือรับประทานยาเกินหนึ่งปีแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้ เบื้องต้นให้สังเกตอาการตัวเองและคนรอบข้างว่า มีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ หากมีอาการเศร้านานกว่า 2 สัปดาห์ แนะนำให้รีบไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

Written By
More from pp
“สกลธี” ลงพื้นที่ช่วย “ภักดีหาญส์” ปลื้มผ่านมาเกือบ 20 ปีชาวบ้านจำผลงานได้ ฝาก กกต.แก้ข้อบกพร่องหวังการเลือกตั้งออกมาสง่างาม
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ ของพรรคฯ ลงพื้น ร่วมกับ...
Read More
0 replies on ““ซึมเศร้า” บาดแผลที่มองไม่เห็น แต่รักษาหายได้”