ปวดหัวรุนแรงทุกเช้า ต้องระวัง อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งสมอง

อาการปวดศีรษะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เมื่อรับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการดีขึ้น แสดงว่าอาจมีความรุนแรงน้อยจนร่างกายสามารถรับมือและฟื้นฟูเองได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้นจนยาแก้ปวดไม่สามารถช่วยได้ ให้สงสัยว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดโรคร้าย เช่น มะเร็งสมอง

นายแพทย์วิกรม เจนเนติสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า มะเร็งสมอง เกิดจากเนื้องอกที่มีเซลล์ผิดปกติ หรือที่เรียกว่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นเองที่บริเวณเนื้อเยื่อสมอง หรืออาจลุกลามมาจากมะเร็งที่อวัยวะอื่น เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต

สำหรับสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งสมองยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค ได้แก่ อายุที่มากขึ้น, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งสมอง, ป่วยเป็นโรคมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายที่สามารถลุกลามมาที่สมองได้ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต มะเร็งผิวหนัง, ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอชไอวี, สูบบุหรี่เป็นประจำต่อเนื่องหลายปี, สัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี สารเคมี หรือภาวะแวดล้อมบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง

อาการของโรคมะเร็งสมองจะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่พบของเนื้องอก โดยอาการจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เป็นโรคมะเร็งสมองอาจมีอาการดังนี้ ปวดศีรษะ โดยจะมีอาการรุนแรงในตอนเช้า, คลื่นไส้ อาเจียน, เป็นลมหมดสติ, ซึม, ชัก กล้ามเนื้อกระตุก, อ่อนแรงและชาบริเวณแขนและขา, มีปัญหาการทรงตัว หรือเดินลำบาก,

มีปัญหาทางความคิด สติปัญญา อารมณ์ หรือสูญเสียความทรงจำ, มีปัญหาในการพูด, มีปัญหาในการมองเห็น, มีปัญหาบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้หากมีอาการร่วม เช่น มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด, ง่วงซึมผิดปกติ, ปวดศีรษะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา

การวินิจฉัยโรคมะเร็งสมอง ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะมีแนวทางการวินิจฉัยดังต่อไปนี้

การตรวจระบบประสาท (Neurological Examination) เพื่อตรวจหาความผิดปกติในการทำงานของสมอง ที่เป็นผลมาจากการที่มีรอยโรคในสมอง

การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อดูลักษณะและตำแหน่งของเนื้อร้าย

การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) โดยการเก็บตัวอย่างของเหลวในโพรงสมองและไขสันหลัง เพื่อตรวจเซลล์มะเร็งหรือความผิดปกติอื่น ๆ

การตัดชิ้นเนื้อตรวจ (Biopsy) สามารถทำได้ด้วยกัน 2 วิธีคือ การผ่าตัดเปิดกระโหลกเพื่อกำจัดเนื้อร้ายในสมอง และการผ่าตัดด้วยระบบนำวิถี (Stereotaxis) ทำได้โดยการหาตำแหน่งที่ชัดเจน จากนั้นทำการเจาะรูเล็กที่กระโหลกแล้วใช้เข็มสอดเข้าไปเก็บตัวอย่างเนื้องอก แล้วส่งให้นักพยาธิวิทยาตรวจสอบหาเซลล์มะเร็งต่อไป

การรักษาโรคมะเร็งสมอง ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษามากกว่าหนึ่งวิธี ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด และตำแหน่งของก้อนเนื้อมะเร็ง รวมไปถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้ป่วย โดยการรักษาที่เป็นมาตรฐานได้แก่ การผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็งสมอง เพราะฉะนั้นวิธีที่ดัที่สุดคือการสังเกตความผิดปกติของตัวเอง เมื่อเกิดความผิดปกติควรรีบมาตรวจรักษาโดยเร็ว เพราะหากตรวจพบโรคมะเร็งสมองในระยะแรกที่เนื้องอกยังมีขนาดเล็ก การรักษาจะยังไม่ซับซ้อน และมีโอกาสในการรักษาหายได้

Written By
More from pp
“แพทองธาร” เปิด 2 นโยบาย “เกษตรแบบตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และ “1 ครอบครัว 1 Soft Power”
“แพทองธาร” เปิด 2 นโยบายแรก “นโยบายเกษตรแบบตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และ “1 ครอบครัว 1 Soft...
Read More
0 replies on “ปวดหัวรุนแรงทุกเช้า ต้องระวัง อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งสมอง”