นายกฯ หารือ USABC เสนอ 3 แนวทางการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม

นายกฯ หารือ USABC เสนอ 3 แนวทางการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม ด้านเอกชนสหรัฐฯ ชื่นชมความสำเร็จประธานเอเปคของไทย และยืนยันบทบาทฐานะหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

28 พฤศจิกายน 2565  เวลา 10.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โดยในครั้งนี้ มีบุคคลสำคัญเข้าร่วมการหารือด้วย ดังนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับนักธุรกิจสหรัฐฯ

ได้แก่ H.E. Mr. Robert Godec (นายโรเบิร์ต โกเดค) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC และผู้แทนบริษัทสมาชิก จำนวน 43 บริษัทจากกลุ่มอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ อาทิ พลังงาน อาหารและการเกษตร สาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางการเงิน

ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบ USABC และภาคเอกชนสหรัฐฯ ถือเป็นมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยมายาวนาน และมีบทบาทสนับสนุนการเติบโตของไทยมาโดยตลอด โดยการพูดคุยในวันนี้จะเป็นโอกาสดีที่จะสานต่อการหารือถึงพัฒนาการสำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมา

โดยเฉพาะภายหลังจากที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค พร้อมย้ำว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือ และการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคเอกชน ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ไทยมีพัฒนาการที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมภายหลังรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ มีพลวัตเพิ่มขึ้นและคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ไทยได้ผลักดันผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมหลายประการ ทั้งการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทหลังโควิด-19 การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว

รวมทั้งการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยการนำเสนอเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจ สีเขียว (Bangkok Goals on BCG) รวมทั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (IPEF) ที่ไทยเข้าร่วมตั้งแต่ต้น และถือเป็นเวทีความร่วมมือรูปแบบใหม่ที่ช่วยเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายใหม่ ๆ

โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตระหว่างร้อยละ 2.7-3.2 ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อมุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม และให้ภาคธุรกิจ

โดยเฉพาะ SMEs ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม บนพื้นฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนของภูมิภาค ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้าน BCG ด้านผู้มีศักยภาพจากทั่วโลก ด้านโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค และด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ซึ่งโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอวิสัยทัศน์ และแนวทางการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุค Next Normal 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความสมดุล ไทยให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว โดยเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ และมุ่งเข้าสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน โดยรัฐบาลได้เร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียว

โดยประสงค์จะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เพื่อยกระดับไทยไปสู่การผลิต EV สำหรับภูมิภาค พัฒนาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บ คาร์บอน

สอง ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ไทยพร้อมสร้างโอกาสทางการค้า มุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยรัฐบาลได้เร่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจตามข้อเสนอ Ten for Thailand เพื่อพัฒนาไทยไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคสำหรับธุรกิจ การค้า และการลงทุน และ

สาม ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ไทยมุ่งผลักดันและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เร่งพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล

นายกรัฐมนตรีหวังว่า ในโอกาสฉลองครบรอบ 190 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในปี 2566 ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนจะเพิ่มพูน และแน่นแฟ้น มีพลวัตในความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านประธาน USABC กล่าวยินดีที่ได้พบกันอีกครั้งภายหลังจากที่ได้พบหารือกันในรูปแบบกึ่งออนไลน์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้พบกันพร้อมหน้า และเป็นคณะที่ใหญ่สุดที่เดินทางมาประเทศไทย รวม 43 บริษัทที่มาในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือกับไทย และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการลงทุนในภูมิภาคนี้

โดยเฉพาะประเทศไทย และถือเป็นโอกาสในการเฉลิมฉลองวาระครบครบรอบ 190 ปีของความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐฯ ในปีหน้าด้วย พร้อมชื่นชมความสำเร็จที่นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานการประชุมเอเปค 2022 ได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งไทยได้ตั้งมาตรฐานไว้สูงมากในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค และสนับสนุนการส่งเสริมความยั่งยืนผ่านแนวคิด BCG

ส่วนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวขอบคุณที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อคณะสภาธุรกิจในวันนี้ ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยั่งยืนยาวนาน ทั้งสองฝ่ายร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์ในหลายระดับ ทั้งรัฐบาล ประชาชน และภาคเอกชน ซึ่งถือว่าความสำคัญระหว่างภาคเอกชนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

รัฐบาลสหรัฐฯ ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของการประชุมเอเปค และพร้อมรับไม้ต่อในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า เน้นย้ำว่า สหรัฐฯ ยืนยันจะส่งเสริมความร่วมมือกับไทยต่อไป

ด้านผู้แทนจากบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้ง 43 บริษัทจาก 6 อุตสาหกรรมหลัก ได้กล่าวแนะนำตัวและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือและสนับสนุนแนวคิด BCG ของไทยผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการใช้พลังงาน ผลิตภัณฑ์ อย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ซึ่งตัวแทนบริษัทส่วนใหญ่เห็นว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์การกลางลงทุนในด้านต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ (Auto Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้ง พร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่พร้อมต่อการทำงาน ซึ่งจะช่วยรองรับการขยายการลงทุนของแต่ละธุรกิจในอนาคตต่อไป

Written By
More from pp
ผิดมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ #ผักกาดหอม
ผักกาดหอม เรียกผิดให้เรียกใหม่ครับ ไม่ใช่ “พื้นที่ทับซ้อน” แต่เป็น “พื้นที่อ้างสิทธิ” เป็นข้อแนะนำจาก เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา “ปกรณ์ นิลประพันธ์” “…เรื่องดินแดนทับซ้อนกันไม่ได้ ดินแดนใครดินแดนมัน...
Read More
0 replies on “นายกฯ หารือ USABC เสนอ 3 แนวทางการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม”