“ทิพานัน” คิกออฟโครงการสร้างเสริมความรู้พิษภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน หวังป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ และจุดเริ่มต้นไปสู่สิ่งเสพติดอื่น เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพและอนาคตที่ดีของเด็กและเยาวชน
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิด “โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจตระหนักรู้ภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน” ที่ห้องประชุมโรงเรียนนาหลวง เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ว่า
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่แนวโน้มความนิยมบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ผลสำรวจทัศนคติของเด็กและเยาวชนไทยที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้าและสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยพบว่า ส่วนใหญ่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ โดยมีเพียง ร้อยละ 9 ของเด็กและเยาวชนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในระดับสูง
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้เนื่องจากการโฆษณาชวนเชื่อของสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่สร้างวาทะกรรมชวนเชื่อว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และจะช่วยให้ลดการสูบบุหรี่ลงได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ายังพบสารเสพติดคือ นิโคติน และสารประกอบอื่นๆอีกมากมายในไอของบุหรี่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
อีกทั้งยังมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่นโรคหัวใจอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความห่วงใยสุขภาพลานามัยของประชาชนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย
“โครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจตระหนักรู้ภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน” โดยเครือข่ายพัฒนาเยาวชนแห่งกรุงเทพมหานคร จึงมีความสำคัญและจำเป็นที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจแก่เด็กและเยาวชน และคนรุ่นใหม่ เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ห่างไกลจากบุหรี่ ป้องกัน ไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่สิ่งเสพติดอื่นๆ
ด้านนายณัฐกานต์ สังขดี ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายพัฒนาเยาวชนแห่งกรุงเทพมหานคร (พยก.)กล่าวว่า กิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจตระหนักรู้ภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ที่จัดขึ้นในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ากับกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และบุคลากรทางการศึกษา
ซึ่งปัจจุบันเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาหลายแห่งได้รับข้อมูลที่ไม่รอบด้าน เช่น เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า จึงไม่ก่อให้เกิดความอันตรายต่อสุขภาพหรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีสารนิโคติน ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นการเร่งพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงอย่างรวดเร็วและอายุของการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ กิจกรรมในวันนี้มีได้ดำเนินการพัฒนาข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมี 3 ข้อเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เรื่องผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครอย่าง
(2) บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เช่น บังคับใช้เรื่องพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะรวมถึงการกวดขันการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และ
(3) ประกาศนโยบายให้ทุกสถานศึกษาเป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า