สัปดาห์แห่ง ‘เอเปก’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ถึงแล้วสัปดาห์ที่รอคอย…

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก APEC) อีเวนต์ระดับโลก ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙  พฤศจิกายน

แต่วอร์มอัปกันตั้งแต่วันนี้ (๑๔ พฤศจิกายน)

สำหรับประชาชนทั่วไปคงคิดว่า เอเปก เป็นเรื่องไกลตัว ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะเป็นเรื่องผู้นำประเทศต่างๆ มาคุยกัน

ชาวบ้านก็หากินกันตามปกติ

ส่วนหนึ่งก็ใช่ครับ เพราะผลจากการประชุมเอเปก ไม่ได้ถูกส่งตรงไปถึงหน้าบ้านทุกคน แต่มีผลทางอ้อมมหาศาลโดยไม่รู้ตัว

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเวทีนี้คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นสิ่งที่จะตามมาคือ ผลประโยชน์ทางการค้า การลงทุน เป็นหลัก

แม้ช่วงหลังๆ มานี้จะมีความพยายามเน้นไปที่สิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องรอง ฉะนั้นการมีม็อบประท้วงเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสีเขียวไม่มีจริง ก็ขอให้เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่

เวทีเอเปก ไม่ว่าจัดที่ไหนสิ่งที่ต้องเจอคือการชุมนุม เรื่องสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ

เป็นสูตรสำเร็จ

และที่ไทยก็ไม่รอด

แล้วเราจะได้อะไรจากการประชุมเอเปก

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของเศรษฐกิจเสรีนิยม หลักๆ คือ รัฐทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก และการจัดสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ

เอกชนจึงเป็นผู้ตัดสินแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ

โดยใช้ระบบราคา หรือระบบตลาดช่วยในการตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร

ราคาจะเป็นตัวกำหนดว่ามีผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด  หรือมีผู้ผลิตจำนวนเท่าใด

ฉะนั้นต้องยอมรับตรงนี้เสียก่อน

การประชุมเอเปก ผู้นำเขาคุยกันเรื่องนี้แหละครับ ประเทศไหนอยากขาย อยากผลิต อยากซื้อ ก็ตกลงกันในกรอบที่กำหนดร่วมกัน

จะคุยเป็นกลุ่ม จับคู่คุย ก็แล้วแต่ประเทศไหนวางแผนมาอย่างไร

สิ่งที่ไทยจะได้จากการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปก

๑.เพิ่มบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ

๒.สร้างช่องทางในการผลักดันท่าที ส่งเสริม และป้องกันผลประโยชน์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนร่วมกำหนดมาตรฐานและนโยบายในประเด็นใหม่ๆ ของบริบทโลก

๓.การลดอุปสรรคและส่งเสริมโอกาสทางการค้า การลงทุนของไทยกับเศรษฐกิจเอเปกและประเทศที่เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

๔.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา วิทยาศาสตร์ พลังงาน  สิ่งแวดล้อม และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

๕.ใช้ประโยชน์จากเอเปกในฐานะแหล่งบ่มเพาะแนวคิด เพื่อก้าวไปข้างหน้าร่วมกันโดยมีเป้าหมายหลักของเอเปกคือ วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ.๒๐๔๐ รวมทั้งการจัดทำเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area  of the Asia-Pacific หรือ FTAAP)

๖.แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ผ่านคณะทำงานต่างๆ รวมถึงเข้าถึงแหล่งข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยในการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและภูมิเศรษฐศาสตร์ รวมถึงเครือข่าย think tank ที่สำคัญ

๗.ใช้ประโยชน์จากเอเปก ในฐานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทยให้ทันสมัย เป็นสากล รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพในมิติต่างๆ ให้แก่ภาครัฐและเอกชน

อาจจะดูเป็นวิชาการไปหน่อย แต่ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ  ก็ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เรามี EEC อยู่แล้ว เราสามารถต่อยอดจากการประชุมเอเปกได้

ไทยสามารถเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตรถ EV  ของโลกได้

เหมือนที่เราได้รับฉายาดีทรอยต์แห่งเอเชีย

ใช่ว่าทุกคนจะชอบฉายานี้ เพราะนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ เช่นกัน แต่เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว ประโยชน์มากกว่าโทษ ถ้าไม่โลกสวย มันก็ต้องเลือกเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียต่อไป

เพราะจะนำมาซึ่งการจ้างงาน

การผลิตรถยนต์ ๑ คัน มีวงจรตำแหน่งงานที่มหาศาล

โดยเฉพาะบริษัทผลิตชิ้นส่วนนับร้อยๆ โรงงาน

นั่นคือสิ่งที่คนไทยจะได้

ไทยไม่สามารถพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร ได้เท่านั้น การระบาดของโควิด-๑๙ ได้ส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า หากมีเครื่องจักรเศรษฐกิจน้อย และหลายๆ ตัวดับไป ปัญหาจะเกิดขึ้นทันที

ซึ่งเราได้เห็นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาแล้ว

ฉะนั้นต้องเพิ่มเครื่องจักรให้หลากหลายที่สุด

การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ของโลก ก็ต้องเป็นหนึ่งในนั้น

แล้วเอเปกสำคัญแค่ไหน

ไทยเป็นสมาชิกของเอเปก ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย  ๒๑ เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา  อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์  ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐ ประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จีนไทเป เม็กซิโก  ปาปัวนิวกินี ชิลี เปรู เวียดนาม และรัสเซีย

กลุ่มสมาชิกเอเปกมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ  (GDP) รวมกันกว่า ๔๒ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ร้อยละ ๕๗ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)  ของโลก

มีสัดส่วนการค้ากว่าร้อยละ ๔๗ ของมูลค่าการค้าโลก

มีจำนวนประชากรคิดเป็นร้อยละ ๓๙ ของประชากรรวมของโลก

เอเปกสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแบบเปิดกว้าง (Open Regionalism) นั่นคือ สิทธิประโยชน์ที่สมาชิกเอเปกมอบให้กัน จะมีผลให้ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกเอเปกได้รับประโยชน์ด้วย

เรามีของอะไรจะขายให้คนกว่า ๓ พันล้านคน ถ้าคิดออกก็โกยเงิน

บางทีเหมือนเส้นผมบังภูเขา คิดไม่ออกว่าจะต้องขายอะไร ต้องทำอย่างไรให้คนทั้งโลกได้รับรู้ว่าเรามีของดีๆ จะขาย

เอาง่ายๆ ครับ “ลิซ่า BLACKPINK” กลับไทยไปกิน ลูกชิ้นยืนกิน ที่บุรีรัมย์ แฟนคลับถึงกับต้องตามรอยไปกินลูกชิ้นยืนกิน

เกาหลีเก่งเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ เราจะลอกการบ้านมาก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะทำแล้วประชาชนโดยรวมได้ประโยชน์

โจทย์คือ แล้วเราจะทำให้เรื่องราวของไทยอยู่ในความสนใจของชาวโลกได้อย่างไร

นี่คือการบ้านที่รัฐบาลต้องคิด และใช้เวทีเอเปกให้เป็นประโยชน์

ประเด็นผู้นำโลก “ไบเดน-ปูติน” ไม่มาเอง ก็ปล่อยไปครับ มุมหนึ่งถือว่ามีข้อดีอยู่เหมือนกัน

อย่างน้อยเวทีเอเปกที่ประเทศไทย ก็ไม่เอาเรื่องสงครามมาเป็นเรื่องหลัก จนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดโควิดเป็นเรื่องรอง

ไทยในฐานะกรรมการห้ามมวยจะได้ไม่ถูกลูกหลง

Written By
More from pp
ข่าวปลอม อย่าแชร์! ธ.กรุงไทย ให้กู้ยืมเงินผ่านบัตร ATM วงเงิน 30,000 บาท กู้ได้ทุกอาชีพ
ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ธ.กรุงไทย ให้กู้ยืมเงินผ่านบัตร ATM วงเงิน 30,000 บาท กู้ได้ทุกอาชีพ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย ธนาคารกรุงไทย พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
Read More
0 replies on “สัปดาห์แห่ง ‘เอเปก’ – ผักกาดหอม”