ใครขายชาติ-ผักกาดหอม

www.plewseengern.com

ผักกาดหอม

พูดกันเยอะใครขายชาติ

ถ้าจะขยายความใช้ชัดเจน เรื่องรัฐบาลขายชาติ ต้องเข้าโปรแกรมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คงต้องไปเริ่มต้นตั้งแต่รัฐบาลที่บริหารประเทศ ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี ๒๕๔๐

รัฐบาลชวน หลีกภัย ต้องกลืนเลือดเซ็นกฎหมาย ๑๑ ฉบับ ที่ขณะนั้นพากันเรียกว่ากฎหมายขายชาติ คือการเช็ดอาจมที่รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทิ้งเอาไว้

ในปี ๒๕๓๙ คนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

แถมมีใครบางคนเสวยสุขบนความทุกข์ของประชาชนทั้งประเทศ รู้ล่วงหน้าก่อนการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ๓ วัน

โกยกันไปเยอะ

ฉะนั้นถ้าจะโทษกันว่าใครทำให้ต้องออกกฎหมายขายชาติ ก็ดูหน้าดูตากันเอาไว้

เมื่อรัฐบาลประยุทธ์ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เนื้อหามีคนบอกว่าเรากำลังจะสิ้นชาติ

ให้ต่างชาติถือครองที่ดิน ๑ ไร่ แลกการลงทุน ๔๐ ล้าน

นักการเมืองฝ่ายค้านโจมตีกันใหญ่ กฎหมายขายชาติ ทำให้ไทยเสียดินแดน ไม่ใช่ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ถ้าใครอ่านหนังสือทีละ ๘ บรรทัด คงงับเข้าไปอย่างจัง

วันเสาร์ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์หลังถูกจับโป๊ะว่า มันคือกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี ๒๕๔๕

แถลงการณ์ลิ้นพันระบุว่า

“…การออกกฎกระทรวงในปี ๒๕๔๕ นั้นมีบริบทที่แตกต่างกับปี ๒๕๖๕ เนื่องจากรัฐบาลในปี ๒๕๔๕ ภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทยนั้น เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศในปี ๒๕๔๔ ภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

และประเทศไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ตามข้อตกลงที่มีกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ต้องแก้ไขกฎหมายในบางเรื่อง และชำระหนี้ไอเอ็มเอฟ

แต่การจะออกกฎกระทรวงของรัฐบาลขณะนี้ เพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานชี้ชัดถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลนี้…”

“ทักษิณ” กลายเป็นคนดีชั้นเอกที่หนึ่งขึ้นมาทันที

กฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายขายชาติ ๑๑ ฉบับ แยกเป็นกลุ่มๆ

มีอยู่ ๓ ฉบับ คือกฎหมายที่ดิน กฎหมายการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดให้เป็นทรัพย์สิทธิ์ และกฎหมายอาคารชุด

ใจความโดยรวมคือ ต้องการให้ต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินได้ เช่าที่ดินเป็น ๑๐๐ ปีได้

เป็นเจ้าของอาคารชุดได้ทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

และสามารถใช้ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่เช่ามา เป็น “ทรัพย์สิทธิ์” ได้ นั่นคือ นำไปจำนองได้ นำไปค้ำประกันได้ ยกให้ผู้อื่นได้ เป็นต้น

ต่อมารัฐบาลทักษิณไปออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๕

สาระสำคัญคือ

กลุ่มมีสิทธิการถือครอง อยู่ในกลุ่มที่รวย กลุ่มเกษียณอายุ กลุ่มที่ต้องการทำงานในไทย และกลุ่มมีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

ต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า ๔๐ ล้านบาท

ต้องลงทุนดำเนินกิจการไม่น้อยกว่า ๓ ปี ถึงจะมีสิทธิซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน ๑ ไร่ ห้ามขาย แต่โอนให้ลูกหลานได้ และห้ามลูกหลานขายต่อเช่นกัน

ตั้งแต่มีกฎหมายนี้มาต่างชาติเข้าเกณฑ์ตัวเลขหลักเดียว

ห่างไกลกับคำว่าขายชาติ

ฉะนั้นน่าประหลาดใจเมื่อพรรคเพื่อไทย บอกว่ากฎหมายที่รัฐบาลนี้นำมาต่อยอดเป็นการขายชาติ แต่ในยุคทักษิณกลับบอกว่าต้องทำตามไอเอ็มเอฟ

มีคำถามไปถึงพรรคระบอบทักษิณ

ก่อนการเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย หาเสียงโจมตีกฎหมาย ๑๑ ฉบับอย่างรุนแรง แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลทำไมถึงเลือกที่จะเดินตามไอเอ็มเอฟ

ยกตัวอย่างพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นกฎหมายอีกฉบับที่พรรคไทยรักไทย ประกาศว่าไม่เห็นด้วย แต่กลับกลายเป็นว่าคนในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ไปหลายคน

มีใครอ้างว่ารวยเพราะต้องทำตามไอเอ็มเอฟหรือไม่

ทีนี้มาดูว่า ร่างกฎกระทรวงปี ๒๕๖๕ ที่รัฐบาลนี้ นำกฎกระทรวงในปี ๒๕๔๕ ของรัฐบาลทักษิณมาปรับใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์โลก

การให้สิทธิคนต่างด้าวถือครองที่ดิน ๑ ไร่นั้น มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องเป็นคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง ๔ ประเภทที่ได้รับวีซ่าพำนักระยะยาว หรือ LTR Visa เท่านั้น คือ

๑. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง คือ มีทรัพย์สินอย่างน้อย ๑ ล้านเหรียญสหรัฐ, มีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำ ๘๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปีในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา และมีการลงทุนในไทยอย่างน้อย ๕๐๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ

๒. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ คือ มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไปที่รับเงินบำนาญและมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า ๘๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปี หรือมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า ๔๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปีและมีการลงทุนในไทยอย่างน้อย ๒๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ

๓. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย คือ มีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า ๘๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปีในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา หรือมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า ๔๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปีและจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป หรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือได้รับเงินทุน Series Aในธุรกิจไม่น้อยกว่า ๑ ล้านเหรียญสหรัฐ, ทำงานในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน ๓ ปีที่ผ่านมา และมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า ๕ ปี

๔. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ คือ มีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า ๘๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปีในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา, มีสัญญาจ้างทำงานมีทักษะเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า ๕ ปี

ทั้งนี้กลุ่มต่างด้าวทั้ง ๔ กลุ่มต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีกรมธรรม์ประกันสุขภาพคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศ ไทยไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ

ความต่างของกฎกระทรวงทั้ง ๒ ฉบับ คือของรัฐบาลประยุทธ์ลดเงื่อนเวลาลงมา แต่เพิ่มดีกรีการอนุญาตให้มีความเข้มข้นขึ้น

นี่คือหนึ่งในความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-๑๙

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากต้มยำกุ้ง กับวิฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-๑๙ อะไรหนักหนาสาหัสกว่ากัน

พรรคเพื่อไทยน่าจะรู้ดี

คำว่าขายชาติ เอาไปหาเสียงได้ครับ แต่ให้ระวัง คนที่มีพฤติกรรมขายชาติจริงๆนั้น ตอนนี้หนีคุกอยู่

แถมไปมีทรัพย์สินในประเทศอื่น เพราะกฎหมายการถือครองที่ดินของคนต่างชาติในโลกนี้ไม่ได้มีเฉพาะที่ไทยประเทศเดียว

เป็นห่วงแต่สามนิ้วที่ออกมาด่าประยุทธ์ขายชาติ เพราะเห็นหลายคนบอกว่าจะย้ายประเทศ

ย้ายไปแล้วต้องซื้อบ้าน ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อตั้งรกราก

หอบเงินไปเลยครับ เพราะเงื่อนไขทางยุโรป อเมริกา กำหนดไว้น้อยกว่าเราอยู่นะ

แต่อย่าไปด่าว่าเขาขายชาติซะหล่ะ


Written By
More from pp
0 replies on “ใครขายชาติ-ผักกาดหอม”