ผักกาดหอม
เอกสารหลุด!
คำชี้แจงของ “มีชัย ฤชุพันธ์” อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จำนวนทั้งสิ้น ๓ แผ่น หลุดอออกมาจากสารบบอย่างไรมิทราบได้
ทั้งที่เอกสารนี้ควรอยู่ในแฟ้มของศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ก็กลายเป็นข่าวฮือฮาเพราะเนื้อหา ตอกย้ำการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ว่ามิอาจมีผลบังคับใช้ย้อนหลังได้
วิจารณ์กันว่าเป็นการช่วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ย้อนกลับไปวันที่ ๒๔ สิงหาคม ที่ผ่านมา วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เป็นเอกฉันท์ให้รับคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน กรณีนายกฯ ๘ ปี ไว้พิจารณา
และมีมติ ๕ ต่อ ๔ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา
วันนั้นศาลรัฐธรรมนูญต้องยกเลิกการแถลงข่าว เพราะมติข้างต้นหลุดออกมาก่อนที่จะเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ
เอกสารหลุดมีผลอย่างไร?
มีแน่นอนครับ
ในสังคมที่ผู้คนแตกแยกเป็น ๒ ขั้วใหญ่ ย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องเดียวเสมอ เป็นความเห็นต่างที่ไม่เคารพในข้อเท็จจริง
ต่อให้มองเห็นในข้อเท็จจริงเดียวกัน เหมือนๆกัน แต่อารมณ์ ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ กลับเป็นปัจจัยชี้ขาดว่ามองเรื่องนั้นเช่นไร
อย่างกรณี นายกฯ ๘ ปี มุมมองที่แตกต่าง มีอยู่ค่อนข้างมาก
นอกจากตีความกฎหมายคนละแบบแล้ว อารมณ์ความรู้สึกยังอยู่เหนือข้อเท็จจริงทั้งปวง
นี่จึงมีการจับตาการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นพิเศษ
และแน่นอนมีการจับจ้องว่า จะมีการช่วยเหลือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ได้ไปต่อ
โดยเฉพาะคำชี้แจงของ “มีชัย ฤชุพันธ์” มีการฟังธงไปแล้วว่าคือการชี้แจงที่เป็นบวกกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไปดู คำชี้แจงของ “มีชัย ฤชุพันธ์” กันก่อน
…ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งตามหนังสือที่อ้างถึงข้างต้นสั่งให้ข้าพเจ้าในฐานะประธาน กรรมการร่างรัฐธรมนูญจัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด ซึ่งมีความว่า “ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ใช้บังคับ ตามบทเฉพาะกาลมาตรา ๒๖๔ สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตังกล่าวเข้ากับวาระการดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งรารอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๐ มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่หรือไม่ และนับแต่เมื่อใด” นั้น
ข้าพเจ้ามีความเห็นในประเด็นดังกล่าว ดังต่อไปนี้
๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ตามที่ปรากฏในพระบรมราชโองการในวรรคห้า และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ผลบังคับจึงมีตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
๒. ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ (มาตรา ๑๖๐) ที่มา (มาตรา ๘๘) วิธีการได้มา (มาตรา ๑๘๙ และมาตรา๒๗๒) กรอบในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา ๑๖๔) ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่) และผลจากการพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา ๑๖๘) ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ บทบัญญัติต่าง ๆ เหล่านั้น จึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใดๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ โดยหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้นย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับคณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐
๓. อย่างไรก็ตาม การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา ๒๖๔ บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่…” โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติและการปฏิบัติหน้ที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ
๔.โดยผลของมาตรา ๒๖๔ ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จึงเป็นคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ตั้งแต่วันที่รัฐชรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ ใช้บังคับ คือ วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวตาตามมาตรา ๑๕๘ วรรศสี่ จึงเริ่มนับดั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ ๖ เมษายน เป็นต้นไป….
สรุปความเห็นของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” คือ….
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ตามที่ปรากฏในพระบรมราชโองการในวรรคห้า ไม่อาจบังคับย้อนหลังได้
ต้องกำหนดความต่อเนื่องของรัฐบาล ระหว่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๗ กับ รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ เพราะประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด
และมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติและการปฏิบัติหน้ที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ
จึงมีผลให้เริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ เป็นต้นไป
วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๘ วรรศสี่ จึงไปสิ้นสุดที่เดือนเมษายน ๒๕๖๘
ถามว่ามีผลชี้นำการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
แน่นอนครับ คำชี้แจงของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” มีน้ำหนัก แต่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยบนพื้นฐานของความคิด “มีชัย ฤชุพันธุ์”
สาระสำคัญของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้ออ้างและคำขอในคำร้องหรือหนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยข้อโต้แย้งในคำชี้แจงข้อกล่าวหา ประเด็นแห่งคดี สรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในแต่ละประเด็น
และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง
รวมทั้งผลแห่งคำวินิจฉัย
นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลต้องลงลายมือชื่อของตุลาการที่วินิจฉัยด้วย
ผลจะออกมาเช่นไร นั่นคือการทำหน้าที่ของศาล
ส่วนความชอบ ไม่ชอบ ด้วยเหตุผลทางการเมือง คือธรรมดามนุษย์