“พีระพันธุ์” สั่งตรวจสอบการใช้งบ “กรมน้ำบาดาล” หลังอธิบดีคนใหม่ สั่งชะลอโครงการพระราชดำริแก้ภัยแล้งให้ประชาชนชาวโคราช ทั้งปรับแก้ “การจัดซื้อจัดจ้าง-สเปกการก่อสร้าง” จนชาวบ้านร้องเรียนหวั่นไม่มีน้ำใช้ทันช่วงภัยแล้งที่จะถึง
24 ตุลาคม 2565-รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการร้องเรียนของประชาชน
กรณีโครงการพระราชดำริน้ำบาดาลเพื่อบรรเทาภัยแล้งให้กับประชาชน ซึ่งกรมน้ำบาดาลได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว แต่ต่อมาเมื่อมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารของกรมฯ ก็ได้มีคำสั่งให้ชะลอการก่อสร้างโครงการ รวมถึงการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง และเปลี่ยนสเปคของอุปกรณ์ต่างๆ
เช่น แทงค์น้ำสเปกเดิมเป็นเหล็กเปลี่ยนมาเป็นแบบพลาสติก จึงทำให้เกิดข้อสงสัยในการปรับเปลี่ยนดังกล่าว และยังสร้างความกังวลต่อชาวบ้านถึงเรื่องความล่าช้าของโครงการนี้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการได้น้ำมาเพื่อเตรียมบรรเทาภัยแล้งที่กำลังจะมาถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้
โดยที่ประชุมมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ไปตรวจสอบรายละเอียดโครงการดังกล่าวทั้งหมด เพื่อหาข้อมูลที่ชัดเจนก่อน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า กรณีร้องเรียนในโครงการนี้ “ผมคิดว่าควรจะเร่งรัดและดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนตามพระราชดำริ ซึ่ง ป.ป.ท. จะลงไปดูในรายละเอียด ทั้งนี้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายด้านงบประมาณ
ผมพูดมาเสมอว่า กฎหมายบ้านเราประเด็นที่หนึ่งคือล้าสมัย ประเด็นที่สองคือเปิดช่อง ประเด็นที่สามคือเปิดอยู่สองช่อง อันแรกให้อำนาจเจ้าหน้าที่จนล้นเกินไป ช่องที่สองคือเปิดให้ใช้อำนาจจนประชาชนเดือดร้อน เพราะที่ผ่านมากฎหมายส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนมาเพื่อประชาชน แต่เขียนมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานสะดวก วันนี้จึงถึงเวลาที่จะแก้ไขกฎหมายเหล่านี้แล้ว”
นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมามีเรื่องที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้งบประมาณจำนวนมาก มีลักษณะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการร้องเรียนของประชาชน แต่เป็นการตรวจสอบการทุจริต ที่เกิดจากการประพฤติไม่ชอบ โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของงบประมาณ
ซึ่งบางครั้งหน่วยงานราชการตั้งงบประมาณไว้เยอะ เมื่อทำไปแล้วพอถึงปลายปีขอเปลี่ยนแปลงโดยแจ้งว่าทำไม่ทัน หรือไม่ได้ใช้ ก็ไปเปลี่ยนแปลงย่อลง คือตอนแรกอาจจะทำแบบหนึ่งแต่หากขอแบบนั้นจะไม่ได้งบฯ จึงขออีกแบบเพื่อให้ได้งบฯ และเมื่อได้มาแล้วค่อยมาอาศัยช่องทางในการเปลี่ยนแปลงไปใช้อย่างอื่นทุจริต หรือใช้อย่างไม่จำเป็น
“กรณีดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นกรณีแรกที่ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ ซึ่งก็ต้องไปดูว่ามีเหตุผลอะไรในการเปลี่ยนแปลง หรือชะลอโครงการ ความจริงหลักเกณฑ์ต่างๆ เปิดช่องเพื่อให้สะดวกในการทำงาน แต่ต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน หรือทำให้โครงการล่าช้า หรือไม่มีเหตุที่ดีพอในการรองรับ
และสำคัญที่สุดคือต้องไม่มีลักษณะของการทุจริต ประพฤติไม่ชอบ ซึ่งเรื่องนี้ในมุมของชาวบ้านเขาแปลกใจว่า ชาวบ้านเขากำลังจะได้น้ำมาใช้ตามโครงการพระราชดำริ แต่จู่ๆ ก็มีการยกเลิก ปรับเปลี่ยนแม้กระทั่งสเปคแทงค์น้ำ ชาวบ้านเขาก็ต้องสงสัย แต่ก็จะต้องตรวจสอบต่อไป” นายพีระพันธุ์ กล่าว