การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น มีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากสายพันธุ์โอมิครอนได้ในระดับสูงเทียบเท่าวัคซีน mRNA

จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญในการศึกษาการใช้วัคซีนจริงกว่า 50 กรณีศึกษา พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือ วัคซีนชนิด mRNA เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น มีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต จากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ในระดับสูงไม่แตกต่างกัน แม้ว่าจะมีไวรัสสายพันธุ์ย่อยเกิดขึ้นใหม่ก็ตาม

โดยรายงานฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ครบ 3 เข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากสายพันธุ์โอมิครอน (84.8%-89.2%*) เช่นเดียวกับการได้รับวัคซีนชนิด mRNA ครบ 3 เข็ม 1

ผู้เชี่ยวชาญได้ข้อสรุปว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 เป็นการเพิ่มระดับการป้องกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลการศึกษาจากการใช้จริงในทวีปเอเชียระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน 2565 นั้น ไม่พบการเจ็บป่วยรุนแรงในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 4 ที่เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีน mRNA2

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมการศึกษาในครั้งนี้ กล่าวว่า “ในขณะที่โอมิครอนกลายเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลก การศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่เราใช้เป็นวัคซีนหลักทั่วโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงอันเนื่องมาจากสายพันธุ์โอมิครอน คือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่เรามีอยู่แล้ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง”

ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติด้านโรคติดเชื้อจากเอเชียและละตินอเมริกาทั้งหมด 22 คน ที่ได้ร่วมทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลในครั้งนี้ มีข้อสรุปว่า ควรกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1 ครั้งในประชากรทั่วไป และทุก 6 เดือนสำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังต่างๆ1

ศาสตราจารย์กาย ทเวทส์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยทางคลินิกของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในเวียดนาม หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมการศึกษาในครั้งนี้ กล่าวว่า “การศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการกำหนดนโยบายการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งทำให้เห็นแนวทางว่าคนทั่วไปควรได้รับวัคซีนกระตุ้นทุกๆ ปี ในขณะที่กลุ่มเปราะบางควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 6 เดือน รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลฉบับนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาลประเทศต่างๆ และสาธารณชน ว่าการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งชนิดไวรัลเวคเตอร์ และชนิด mRNA เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น มีประสิทธิผลในการป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากโอมิครอนได้ดี โดยมีระดับภูมิคุ้มกันลดลงน้อยมาก แม้ว่าจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นผ่านไปแล้ว 3 เดือน”

รายงานฉบับนี้ได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์เมื่อวานนี้ ซึ่งทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากกรณีศึกษาจำนวน 50 เรื่อง บน Viewhub ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบอินเตอร์แอคทีฟที่แสดงข้อมูลจากทั่วโลกพร้อมภาพประกอบเกี่ยวกับการใช้วัคซีนและผลที่เกิดขึ้น โดยพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของวิทยาลัยสาธารณสุขจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก (Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health) และศูนย์การเข้าถึงวัคซีนนานาชาติ (International Vaccine Access Center)

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่าการใช้วัคซีนอื่นๆ เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากโอมิครอนได้ดี แต่มีประสิทธิผลต่ำกว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนชนิด mRNA เล็กน้อย1

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนชนิด “ไวรัลเวคเตอร์” หรือ ‘ไวรัสพาหะ’ ซึ่งหมายถึงการนำเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัคซีน ซึ่งจะทำให้ร่างกายเรียนรู้ว่าจะต่อสู้กับเชื้ออย่างไรหากสัมผัสกับไวรัสจริงในภายหลัง โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนวิธีนี้ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ซิกา อีโบลา และเอชไอวี3 เป็นต้น

แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรทั่วโลกได้ส่งมอบวัคซีนมากกว่า 3 พันล้านโดส ให้แก่ประเทศต่างๆ มากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก และประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าได้ช่วยปกป้องชีวิตผู้คนกว่า 6 ล้านชีวิตจากโรคโควิด-19 อ้างอิงข้อมูลจาก Airfinity4 บริษัทด้านการวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพชั้นนำ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ในช่วง 12 เดือนแรกที่มีการใช้วัคซีน

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า คิดค้นโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในกว่า 125 ประเทศ และจากการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้จะช่วยเร่งให้มีการเข้าถึงวัคซีนใน 144 ประเทศผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์ (COVAX)

ภายใต้ข้อสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วง (sub-license agreement) กับแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ถูกผลิตและส่งมอบโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย โดยใช้ชื่อวัคซีนว่า COVISHIELD

เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า

แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้า มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่างๆ จากแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ astrazeneca.co และช่องทางทวิตเตอร์ @AstraZeneca



Written By
More from pp
คาร์เทียร์เปิดตัวโฉมใหม่ บูติคแฟล็กชิพ ณ สยามพารากอน ผสานกลิ่นอายวัฒนธรรมไทยเข้ากับเอกลักษณ์ของคาร์เทียร์อย่างกลมกลืน
คาร์เทียร์ (Cartier) แบรนด์เครื่องประดับสัญชาติฝรั่งเศสปรับโฉม บูติคสยามพารากอน นำสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยผสานเข้ากันกับเอกลักษณ์ของคาร์เทียร์อย่างกลมกลืน
Read More
0 replies on “การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น มีประสิทธิผลในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากสายพันธุ์โอมิครอนได้ในระดับสูงเทียบเท่าวัคซีน mRNA”