2 กันยายน 2565-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดการซ้อมแผนฉุกเฉินอุบัติเหตุรถขนส่งวัตถุอันตรายตามข้อกำหนดความตกลง ว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศ ทางถนนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปภายใต้สหประชาชาติ หรือข้อกำหนด ADR
โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมงาน
และมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายขวัญเลิศ พานิชมาท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ในวันที่ 2 กันยายน 2565 ณ ลานหน้าอาคารศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการดำเนินนโยบายเพื่อลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่ง จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุน สวัสดิภาพที่ดีของพี่น้องประชาชน อันเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันของประเทศ
กระทรวงคมนาคม มีภารกิจในการดูแลระบบขนส่งและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติการเดินทาง ตามแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความตกลง ในภูมิภาคและได้ลงสัตยาบันในพิธีสารฉบับที่ 9 สินค้าอันตรายภายใต้กรอบความตกลงการขนส่งสินค้าผ่านแดนของอาเซียนในปี 2559 และได้มีการพัฒนา การควบคุม กำกับดูแล การขนส่งวัตถุอันตรายทางถนนให้เป็นไป ตามมาตรฐานสากล ตามแนวทางและข้อกำหนด ADR มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
และนอกเหนือจากนั้นกระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยกำกับดูแลการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน ให้มีความปลอดภัย ทั้งการใช้เทคโนโลยี GPS ในการกำกับ ดูแล ความเร็วและชั่วโมงการทำงานของผู้ขับรถขนส่งวัตถุอันตราย และในอนาคตได้มอบนโยบายให้มีการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพิ่มเติมในการส่งเสริม ความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ทั้งการนำเทคโนโลยีการระบุตัวตนด้วยคลื่นความถี่ (RFID) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS)
.
การขนส่งวัตถุอันตรายทางถนนถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เพิ่มมูลค่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความสำคัญในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และเป็นสินค้าที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการบริหารการขนส่ง การบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินที่ดี ซึ่งการขนส่งสินค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นับเป็นปัจจัยที่แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวที่ดี ของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย การเป็นประเทศชั้นนำด้านการบริหารจัดการขนส่งสินค้าอันตราย ของอาเซียน จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายโอกาส ทางการค้าและการลงทุนของประเทศไทยในเวทีโลก
ดังนั้น การจัดโครงการนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพนักงานขับรถ ผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานสากล อันจะช่วยลดความสูญเสียและผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป