เสียงลือเสียงเล่าอ้าง “ของแพง” ยังคงสะท้อน ดังบ้าง แผ่วบ้าง อยู่ตลอดๆ ตามจังหวะเวลาและขึ้นอยู่กับว่าสินค้านั้นจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นอาหารหลักเสียงก็จะยิ่งดังมากขึ้น และยังพาดพิงไปถึงต้นทางการผลิต หากพิจารณาความจริงของสินค้าเกษตรและสินค้าปศุสัตว์ที่ว่า “เน่าได้ เสียง่าย กักตุนไม่ได้ ราคาขึ้นช้า-ลงเร็ว” ก็จะกระจ่างชัดขึ้นมาว่าราคาอาหารเหล่านี้ไม่ใช่เข้าถึงไม่ได้ แต่ราคาผันแปรตามต้นทุนวัตถุดิบ อุปสงค์และอุปทาน ของอาหารประเภทนั้นๆ ในฐานะผู้บริโภคก็ต้องปรับพฤติกรรมการบริโภคให้สอดคล้องกับสถานการณ์ คือ อะไรแพงบริโภคน้อยหน่อย ทดแทนด้วยตัวอื่นที่ราคาย่อมเยากว่า…สร้างคุณค่าการบริโภคในแต่ละมื้ออาหารด้วยตัวเอง
ขอยกตัวอย่างแบบประชิดตัว เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของการบริโภคนิยมของคนไทย เพราะเป็นอาหารหลักในแต่ละมื้ออาหารมาช้านาน ที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ถีบตัวสูงขึ้นกว่า 30% นับตั้งแต่ปลายปี 2564
จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้แหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองรายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาผลผลิตลดลงทำให้ราคาในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ตามด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มปะทะกันตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 และยืดเยื้อมาเกือบ 4 เดือนแล้ว ยิ่งผลักดันให้วัตถุดิบเหล่านี้สูงขึ้นไปอีก สะท้อนให้เห็นราคาอาหารโลกจนถึงขณะนี้สูงขึ้นกว่า 20% รวมถึงต้นทุนพลังงานที่เป็นต้นทุนในกระบวนการผลิตและการขนส่ง ซึ่งผู้บริโภคต้องทำความเข้าใจกับเหตุผลนี้ด้วย
หากพิจารณา 2 พื้นฐานสำคัญของสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะอาหารสดและเนื้อสัตว์ คือ คุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ที่มีการเน่าเปื่อยตามระยะเวลาและวิธีการเก็บรักษา สำคัญที่สุดคือ ไม่สามารถกักตุนได้เหมือนสินค้าอุตสาหกรรมประเภทอื่น อาทิ สบู่ ยาสระผม กระดาษชำระ แม้แต่เกลือหรือน้ำตาล ฯลฯ สามารถเก็บได้นานกว่าของสดทั้งสิ้น ยิ่งช่วงที่สินค้าขาดแคลนหรือมีราคาสูงมากจากปัจจัยของสงคราม ยิ่งกลายเป็นภาระของผู้ประกอบการต้องแบกต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคต้องแบกราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
อีกหนึ่งพื้นฐานความไม่เท่าเทียม คือ “ราคา” สินค้าเกษตรและปศุสัตว์ ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้มาตรการกำกับดูแลของรัฐ ทั้งรูปแบบการควบคุมราคา ควบคุมนำเข้า การแจ้งสต๊อกสินค้า การแจ้งการเคลื่อนย้าย จนถึงมาตรการอุดหนุนราคาทั้งการประกันราคาและประกันรายได้ให้เกษตรกร ทำให้ราคาสินค้าเกษตรไทยไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การพัฒนาภาคการเกษตรของไทยจึงมีภาคเอกชนเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ มาตรการเหล่านี้เป็นปัจจัย “กดราคา” ขายมากกว่าปล่อยให้ “กลไกตลาด” ทำงานอย่างเสรี สมดุลราคาขายกับต้นทุนการผลิตจึงเป็นความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ และผู้ประกอบการโดยไม่มีข้อต่อรอง
ดังที่กล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ไข่ ข้าว ผัก หรืออาหารสดอื่นๆ ล้วนมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการเก็บรักษา (Shelf Life) สั้นเพียง 3-5 วัน ให้คงความสด สะอาด คุณค่าทางโภชนาการ และความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ไม่ให้เน่าเสียกลายเป็นขยะอาหาร (Food Waste) แตกต่างจากอาหารสำเร็จรูป หรือ อาหารแช่แข็ง ที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมโดยสิ้นเชิงที่สามารถเก็บได้นานกว่า แม้แต่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี แม้จะเป็นธัญพืชแต่ผ่านกระบวนการอบไล่ความชื้น เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้นให้สะดวกในการนำไปใช้ในเวลาที่เหมาะสม
สำหรับเนื้อหมู ที่มีเสียงสะท้อนว่าราคาสูงในขณะนี้ เป็นผลพวงหลังกรมปศุสัตว์ประกาศโรคระบาด ASF ในไทย กระทบปริมาณผลผลิตหายไปจากตลาด 50% ราคาจึงไต่บันไดขึ้นเรื่อยๆ จากหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ราคาเฉลี่ยเมื่อธันวาคม 2564 ที่ประมาณ 80 บาทต่อกิโลกรัม และไปอยู่ที่ 102 บาท ในเดือนมกราคม 2565 และขึ้นไปสูงสุดที่ 110 บาท และอ่อนลงในเดือนกุมภาพันธ์ที่ราคาเฉลี่ย 96 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ
ขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับขึ้นไปอยู่ที่ 98.81 ในเดือนมีนาคม 2565 และราคากลับมาดีดขึ้นอีกครั้งปลายเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน จากการประกาศห้ามส่งออกวัตถุดิบอาหารในหลายประเทศและสงครามยังคงยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติยืนยันให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการรักษาระดับราคาหน้าฟาร์มไว้ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการยืนราคาดังกล่าวต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 เพื่อแบ่งเบาภาระผู้บริโภค และราคาจะอ่อนตัวลงหลังมีผลผลิตป้อนสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น ไข่ เนื้อไก่ พืชผัก พริก มะนาว และอาหารสดต่างๆ ราคาปรับขึ้น-ลงตามฤดูกาล อายุการเก็บสั้น ซื้อเก็บก็คงไม่ได้มากเพราะตู้เย็นแต่ละบ้านมีพื้นที่จำกัด และในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ การซื้อให้เพียงพอและรับประทานหมด เป็นการบริหารจัดการกระเป๋าสตางค์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ดีกว่าการซื้อไปตุนไว้แล้วไม่ได้กิน อาหารหมดอายุและต้องนำไปทิ้ง เป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารสูง มีผลผลิตเพียงพอและส่งออกไปเลี้ยงประชากรโลก แต่รัฐบาลก็ต้องใส่ใจเรื่องสมดุลราคาตามกลไกตลาด หาไม่เราอาจเจอกับ “วิกฤตอาหาร” จากการหยุดผลิตเพราะขาดทุนของเกษตรกรและผู้ประกอบการได้