นารายณ์ โฮเต็ล เตรียมเคลื่อนย้าย “รูปปั้นพระนารายณ์บรรทมสินธุ์” ครั้งแรกในรอบ 54 ปี ดึงทีมอนุรักษ์งานศิลป์จากฝรั่งเศส นำเทคนิคเฉพาะมาใช้เป็นครั้งแรกในไทย

ภายหลังจากที่ได้มีการอัญเชิญ องค์พระนารายณ์” ที่อยู่คู่โรงแรมนารายณ์ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ในสถานที่ที่เหมาะสมเรียบร้อยแล้ว

ความคืบหน้าล่าสุดที่ทางโรงแรมกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ การเคลื่อนย้ายรูปปั้นพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นประติมากรรม เก่าแก่ ที่สำคัญเช่นกัน แต่การเคลื่อนย้ายครั้งนี้ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งต้องระดมทีมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณมาร่วมตรวจสอบและประเมินโครงสร้างในครั้งนี้ด้วย

คุณนที นิธิวาสิน กรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ โฮเต็ล จำกัด ให้ข้อมูลถึงการเคลื่อนย้ายว่า ด้วยความที่รูปปั้นพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ อยู่คู่กับโรงแรมมาเป็นเวลากว่า 50 ปี ไม่เคยเคลื่อนย้ายเลย ย่อมต้องมีสึกกร่อนไปตามกาลเวลา ครั้งนี้ ถือเป็นการเคลื่อนย้ายครั้งแรก ทีมผู้บริหารจึงต้องการอยากให้คงสภาพเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด  เราจึงตัดสินใจ เลือก บริษัท JWD Art Space จำกัด ที่มีประสบการณ์ด้านดูแล งานศิลปะครบวงจร ทั้งซ่อมแซมงานศิลปะ เคลื่อนย้าย เก็บรักษา และติดตั้งกลับ เป็น One Stop Service  รวมทั้งมีรับประกันภัย ผลงานทุกชิ้น ในทุกขั้นตอน ซึ่งทำให้เราวางใจได้ว่างานศิลปะที่เรานำไปฝากไว้  ได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ คุณนที ยังได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนงานในขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ว่า ในส่วนที่เรากำลังดำเนินงานอยู่ในตอนนี้ ยังเป็นขั้นตอนการเคลียร์พื้นที่ภายในตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นพระนารายณ์บรรทมสินธุ์เรือสุพรรณหงส์จิตกรรมฝาผนังแชนเดอเลีย และอื่น ๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ ประมาณเดือนกรกฏาคมนี้ จากนั้น ก็จะเป็นขั้นตอนการทุบตึก ปรับปรุงพื้นที่ เพื่อรองรับการก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตครับ

ทางด้านคุณโรแบร์ต บูแกรง ดูบูร์ก (Robert Bougrain-Dubourg) นักอนุรักษ์งานศิลปะชาวฝรั่งเศสที่ทำงานร่วมกับทีมงาน JWD Art Space ได้ให้ความรู้ในเรื่องนี้ด้วยว่า งานศิลปะชิ้นนี้เป็นผลงานล้ำค่าอีกผลงานหนึ่งของประเทศไทย เป็นผลงานที่มีขนาดใหญ่ ปั้นขึ้นด้วยปูนปลาสเตอร์ อายุกว่า 50-60 ปีแล้ว การเคลื่อนย้าย ต้องอาศัยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ทุกขั้นตอนเสี่ยงต่อการแตกร่อนสูง

ขั้นตอนก่อนเคลื่อนย้าย จึงสำคัญมาก สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ ป้องกันชิ้นงานทั้งหมดเสียก่อน หน้าที่ของผมและทีมงาน เข้ามาดูแลตรงนี้ ด้วยเทคนิคเฉพาะ ที่นิยมใช้กันมากกับการอนุรักษ์งานศิลปะในประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะที่ประเทศฝรั่งเศส นี่ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  ที่นำเทคนิคนี้มาใช้ และหลังจากทำความสะอาดรูปปั้นพระนารายณ์บรรทมสินธุ์แล้ว ต้องทากาวน้ำชนิดพิเศษที่ทำจากไขกระต่ายแล้วปิดทับด้วยกระดาษสา ทำแบบนี้สลับกันไป 5-6 ชั้น เพื่อป้องกันชิ้นงานให้เสียหายน้อยที่สุดหรือไม่มีส่วนใด เสียหายเลย

ขั้นตอนต่อไปใช้แผ่นสำลีหุ้มอีกครั้ง ก่อนนำมาบรรจุในกล่องไม้ เตรียมเคลื่อนย้ายด้วยระบบราง นำลงมาผ่านช่องหน้าต่างทางชั้น โดยมีนั่งร้านและเคลนช่วยยก รองรับอีกทอดหนึ่งด้วย และนำไปเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บงานศิลปะที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งเราควบคุมอุณหภูมิ 25-27 องศา ตลอด 24 ชมควบคุมความชื้น ป้องกันเชื้อรา และใช้ผ้าคลุมเอาไว้ตลอดเวลา โดยจะเปิดออกมาตรวจเช็กสภาพทุก ๆ เดือน ซึ่งงานในส่วนที่จะมีเจ้าหน้าที่ของทาง JWD Art Space คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ชิ้นงานอยู่ในสภาพเดิมให้ได้มากที่สุดครับ

รูปปั้นพระนารายณ์บรรทมสินธุ์” เป็นผลงานทรงคุณค่า โดย คุณไข่มุกด์ ชูโต ประติมากรหญิงคนแรกของประเทศไทย ปั้นไว้ตั้งแต่ปี 2506  จัดอยู่ในงานปั้นประเภทประติมากรรมนูนต่ำ มีขนาด 2×8 เมตร รูปปั้นพระนารายณ์บรรทมสินธุ์” เป็นองค์พระนารายณ์บรรทมบนอนันตนาคราชเจ็ดเศียร ขนาบข้างด้วยพระนางลักษมี พระชายา จุดเด่นของประติมากรรมชิ้นนี้ อยู่ที่ลวดลายละเอียดอ่อน มีความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน สัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณและความเป็นธรรมชาติ นับเป็นหนึ่งในผลงานสร้างชื่อเสียงให้กับคุณไข่มุกด์    

ยิ่งไปกว่านั้น เปรียบเหมือนสัญลักษณ์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจพนักงานทุกคน ซึ่งหากโครงการก่อสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อย ทางทีมผู้บริหาร มีความเห็นว่า จะนำรูปปั้นพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ กลับมาติดตั้งไว้ในที่ที่เหมาะสมอีกครั้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหม่อันงดงามต่อไปอีกด้วย


Written By
More from pp
สธ. แจงข้อแนะนำการสวมหน้ากากอนามัย 3 กลุ่ม เตรียมทำในพื้นที่ที่มีความพร้อมเข้าเกณฑ์เป็นโรคประจำถิ่น
24 พฤษภาคม 2565-นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงประเด็นเตรียมปรับมาตรการเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย
Read More
0 replies on “นารายณ์ โฮเต็ล เตรียมเคลื่อนย้าย “รูปปั้นพระนารายณ์บรรทมสินธุ์” ครั้งแรกในรอบ 54 ปี ดึงทีมอนุรักษ์งานศิลป์จากฝรั่งเศส นำเทคนิคเฉพาะมาใช้เป็นครั้งแรกในไทย”