นายกฯ ประชุม นบข. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 วงเงิน 1,925.065 ล้านบาท เตรียมนำเสนอ ครม. พิจารณา กำชับการใช้จ่ายงบประมาณ ต้องเป็นไปตามระเบียบ กฎหมายทุกประการ
27 เมษายน 2565 เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณคณะกรรมการ นบข. ทุกคน ที่ได้ร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องข้าวร่วมกันมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยงานหลายอย่างมีความคืบหน้า หลายอย่างจะต้องทำต่อไป และหลายอย่างก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ ซึ่งทุกคนเข้าใจดีว่าเป็นภาระหน้าที่สำคัญที่ต้องดูแลประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวนาให้สามารถที่จะอยู่ได้ และวันนี้มีสถานการณ์หลายอย่างที่เป็นผลกระทบ
เช่น เรื่องแรงงาน โควิด-19 สถานการณ์สงครามความขัดแย้ง ที่ทำให้งานยากขึ้นเรื่อย ๆ แต่นายกรัฐมนตรียังคงเชื่อมั่นในคณะกรรมการทุกคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะหาวิธีการที่เหมาะสมในการเดินหน้าพัฒนางานบริหารข้าวให้ดีที่สุด ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพเรื่องข้าวอยู่แล้ว โดยวันนี้มีหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนการผลิต การตลาด ปริมาณ คุณภาพต่าง ๆ และหลายประเทศที่เป็นประเทศเกษตรกรรมปลูกข้าวเช่นเดียวกับประเทศไทย ก็ได้มีการพัฒนาไปมากพอสมควร ซึ่งจะต้องนำมาเปรียบเทียบกับการทำงานของเราด้วย
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเห็นใจพี่น้องเกษตรกร ทั้งพืชไร่ พืชสวน ชาวไร่ชาวนาทั้งหมดที่รัฐบาลจะต้องดูแล โดยขณะนี้รัฐบาลได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนรายครัวเรือนซึ่งมีหลายอาชีพ หลายประเภท โดยจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและทยอยดำเนินการโดยเร็วที่สุด รวมทั้งนายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนาพันธุ์ และเทคโนโลยีการผลิตข้าว ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว ปีงบประมาณ 2565 ด้านการผลิต ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าในการรับรองพันธุ์ข้าวไม่น้อยกว่า 14 พันธุ์ พร้อมกำชับว่าในการดำเนินงานการใช้จ่ายงบประมาณทุกอย่าง จะต้องเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายทุกประการ
สำหรับมติ นบข. ที่สำคัญ นบข. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 และมอบหมายให้กระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 โดยกำหนดหลักการให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีของ ธ.ก.ส. ได้รับความคุ้มครองจากระบบการประกันภัยตามกฎของจำนวนมาก (Law of Large Numbers) เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการฯ ในปีการผลิต 2559 – 2564 และคงรูปแบบการรับประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีส่วนร่วมในการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัย เช่นเดียวกับโครงการฯ ในปีการผลิต 2564 ทั้งนี้ โครงการฯ ปีการผลิต 2565 มีหลักการและรายละเอียดในการรับประกันภัย อาทิ
ผู้รับประกันภัย : บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ตามกรมธรรม์ / คุณสมบัติผู้เอาประกันภัย : เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี และปรับปรุงทะเบียน ในปีการผลิต 2565 / พื้นที่รับประกันภัย (พื้นที่รวมทั้งโครงการ 29 ล้านไร่) : การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) 28.5 ล้านไร่ แบ่งเป็น ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. 28 ล้านไร่ เกษตรกรทั่วไป ไม่เกิน 5 แสนไร่ การรับประกันภัยร่วมจ่ายโดยสมัครใจ (Tier 2) ไม่เกิน 5 แสนไร่ / งบประมาณ : สำหรับพื้นที่เอาประกันภัย 28.5 ล้านไร่ (อุดหนุนเบี้ยประกันภัยเฉพาะ Tier 1) จำนวน 1,925.065 ล้านบาท
โดยให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลและเบิกเงินชดเชยจากรัฐบาลตามจำนวนที่จ่ายจริงรวมกับต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาสบวก 1 ต่อปี ในปีงบประมาณถัดไป โดยให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินตามอัตราที่แท้จริงทุกไตรมาส / ระยะเวลาขายกรมธรรม์ : กำหนดวันเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2565 และกำหนดวันสิ้นสุดการขายกรมธรรม์ แตกต่างกันตามภูมิภาค ดังนี้
(1) ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กลุ่มที่ 1) จำนวน 42 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. 65 (2) ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กลุ่มที่ 2) จำนวน 16 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. 65 (3) ภาคตะวันตก จำนวน 5 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 65 (4) ภาคใต้ จำนวน 14 จังหวัด สิ้นสุดการขายกรมธรรม์ไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 65 / การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน : การประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562
นบข. รับทราบสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย สถานการณ์ข้าวโลก : การส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ในปี 2565 (ม.ค. – มี.ค.) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 3.57 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ ไทย 1.76 ล้านตัน เวียดนาม 1.43 ล้านตัน ปากีสถาน 1.26 ล้านตัน และสหรัฐฯ 0.61 ล้านตัน ตามลำดับ
ทั้งนี้ การส่งออกข้าวไทย จำแนกตามชนิดข้าว ปี 2565 (ม.ค. – ก.พ.) ไทยส่งออกข้าวขาว เป็นอันดับหนึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.64 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย (ร้อยละ 24.55) ข้าวนึ่ง (ร้อยละ 9.09) ข้าวหอมไทย (ร้อยละ 6.36) ข้าวเหนียว (ร้อยละ 3.64) และข้าวกล้อง (ร้อยละ 1.82) ตามลำดับ ปริมาณการส่งออกข้าวทั้ง 6 ชนิดรวม 1.10 ล้านตัน ซึ่งเป็นการปริมาณการส่งออกที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยอันดับหนึ่งคือ ภูมิภาคเอเชีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.45 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกา (ร้อยละ 21.82) ตะวันออกกลาง (ร้อยละ 20.00) อเมริกา (ร้อยละ 16.36) ยุโรป (ร้อยละ 3.64) และโอเชียเนีย (ร้อยละ 2.73) ตามลำดับ
ด้านแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ในปี 2565 กรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกไว้ประมาณ 7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.38 จากปริมาณการส่งออกปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและมีการบริโภคมากขึ้น ประกอบกับคาดว่าน้ำฝนและน้ำในอ่างเก็บน้ำในปีนี้มีปริมาณเพียงพอต่อการเพาะปลูกทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ราคาข้าวไทยในปี 2565 อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้
ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียได้รับการฟื้นฟู ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีทางการค้าข้าวของไทย นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางการขนส่งเพิ่มขึ้นใหม่อย่างเส้นทางรถไฟจีน – ลาว ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกในการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนท่ามกลางปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและระวางเรือ อีกทั้ง ยังคาดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยมากนัก โดยอุปสรรคหลักของการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ ยังคงเป็นปัญหาค่าระวางที่ปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
สถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ปี 2565 (ม.ค. – ก.พ.) ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 1.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.41 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ประมาณ 5 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันมานำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลให้ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้น จึงทำให้มีการหันมานำเข้าข้าวหักจากไทยเพื่อนำไปใช้ทดแทนข้าวโพดหรือข้าวสาลีในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำเข้าบางส่วนยังเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวเพื่อสำรองไว้ เนื่องจากมีความกังวลจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน
สถานการณ์ข้าวไทย
1) การผลิต การบริโภค การส่งออก และสต๊อกข้าวไทย : ผลผลิตข้าวไทย ปี 2564/65 คาดว่าผลผลิตข้าวไทยจะมีประมาณ 21.16 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.54 ล้านตันข้าวสาร หรือร้อยละ 2.62 จากปีการผลิต 2563/64 ที่มีปริมาณ 20.62 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากในฤดูกาลทำนาปรัง ปี 2565 สภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การบริโภคข้าวไทย ปี 2564/65 ที่คาดว่าจะมีประมาณ 11.50 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 0.09 ล้านตันข้าวสาร หรือร้อยละ 0.78 จากปี 2563/64 ที่มีปริมาณ 11.59 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งค่อนข้างทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวไทย ปี 2564/65 ส่งออกข้าวได้ปริมาณ 6.12 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.39 ล้านตันข้าวสาร หรือร้อยละ 6.81 จากปี 2563/64 ที่ส่งออกได้ปริมาณ 5.73 ล้านตันข้าวสาร โดยมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ สต๊อกข้าวไทย ปลายปี 2564/65 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 4.58 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.30 ล้านตันข้าวสาร หรือร้อยละ 7.01 จากปี 2563/64 ที่มีปริมาณ 4.28 ล้านตันข้าวสาร
2) การเพาะปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวที่ 60.25 ล้านไร่ ผลผลิต 25.25 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ ปี 2564/65 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี 62.60 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.26 พื้นที่เก็บเกี่ยว 59.14 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.58 และผลผลิต 26.02 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.51 รอบที่ 2 กษ. กำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวที่ 9.03 ล้านไร่ ผลผลิต 5.41 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ ปี 2564/65 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง 10.11 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 21.22 พื้นที่เก็บเกี่ยว 10.07 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 21.18 และผลผลิต 6.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 22.98 โดยผลผลิตข้าวนาปรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
3) ผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 4,678,876 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 101.74 ของเป้าหมาย 4,600,000 ครัวเรือน พื้นที่ 62.70 ล้านไร่ รอบที่ 2 มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 396,299 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 99.07 ของเป้าหมาย 400,000 ครัวเรือน พื้นที่ 6.36 ล้านไร่ (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ณ 7 เม.ย.65)
4) สถานการณ์ด้านราคา ณ วันที่ 25 เม.ย. 65 ข้าวเปลือกหอมมะลิ 12,500-13,800 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 12,000-13,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว 9,000-10,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 8,400-9,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี 10,500-11,500 บาท/ตัน
5) แนวโน้มสถานการณ์ด้านราคาข้าว ปัจจัยบวก ได้แก่ (1) ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และ (2) สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้อุปสงค์กลับมาฟื้นตัว ปัจจัยลบ ได้แก่ ค่าระวางเรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวได้