เอ็นหมุนข้อไหล่ฉีกขาดแล้วไม่ผ่าตัด อาจเสี่ยงเป็นซ้ำและนำไปสู่ข้อไหล่เสื่อมก่อนเวลาอันควร 

อาการปวดไหล่ที่เกิดจากเอ็นหมุนข้อไหล่ฉีกขาดแล้วไม่รักษา มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำภายใน 2 ปี ซึ่งโรคอาจรุนแรงขึ้นและการรักษาซับซ้อนกว่าเดิม 

เอ็นหมุนข้อไหล่ (Rotator cuff) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ข้อไหล่มีความมั่นคง สามารถขยับเคลื่อนไหว มีกำลังและใช้งานไหล่ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยเอ็นหมุนข้อไหล่ประกอบด้วยเส้นเอ็น 4 เส้น เกาะจากกระดูกสะบัก (Scapular bone) ไปยังกระดูกต้นแขน (Humeral bone) โดยส่วนใหญ่มักเกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็นที่เกาะบริเวณกระดูกต้นแขน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวด อ่อนแรง หรือข้อไหล่ติดได้

นายแพทย์รัฐภูมิ วัชโรภาส ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ – เวชศาสตร์การกีฬาและโรคข้อไหล่และข้อเข่า โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า เอ็นหมุนข้อไหล่ฉีกขาดเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก คืออุบัติเหตุ (Traumatic cause) เช่น หกล้ม การกระแทกรุนแรงบริเวณไหล่ เป็นต้น ส่วนอีกสาเหตุคือความเสื่อมตามอายุ (Degenerative cause)

โดยพบว่าอายุที่มากขึ้นจะพบการฉีกขาดที่มากขึ้น แม้จะไม่มีอุบัติเหตุหรือการกระทบกระแทกที่รุนแรง สำหรับการตรวจวินิจฉัยนั้น นอกจากซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะให้ทำ MRI (Magnetic resonance imaging) เพื่อดูขนาดและจำนวนเส้นเอ็นที่ฉีกขาด ลักษณะการขาด คุณภาพเส้นเอ็น รวมถึงหาการบาดเจ็บอื่นที่อาจทำให้เกิดความผิดปกติร่วมด้วย

หากพบว่าเอ็นหมุนข้อไหล่ฉีกขาดจากอุบัติเหตุ ถ้าผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็นหัวไหล่โดยเร็วที่สุด เพราะเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีและให้ผลที่ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รักษา ทั้งในด้านการลดปวด เพิ่มกำลังการใช้งานและลดโอกาสเกิดข้อไหล่ยิดติด

แต่ในกลุ่มที่เอ็นหมุนข้อไหล่ฉีกขาดจากความเสื่อม การจะผ่าตัดรักษาต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งอาการของผู้ป่วย อายุ ขนาดความเสียหายของเส้นเอ็น ชนิดและจำนวนเส้นเอ็นที่ขาด รวมถึงคุณภาพของเส้นเอ็น เนื่องจากหลายคนเมื่อรักษาด้วยการประคับประคองอาการ โดยการใช้ยาหรือกายภาพบำบัดก็สามารถให้ผลการรักษาที่ดีได้” นายแพทย์รัฐภูมิกล่าว

สำหรับผู้ป่วยเอ็นหมุนข้อไหล่ฉีกขาดที่ยอมทนกับอาการปวด โดยเฉพาะในกลุ่มที่เส้นเอ็นฉีกขาดทั้งหมด (Full thickness tear) แม้ขณะที่ตรวจพบอาการปวดอาจจะเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษากว่าร้อยละ 50 จะกลับมามีอาการใหม่ได้ใน 2 ปี โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 75 ปี ซึ่งยังจำเป็นต้องใช้งานข้อไหล่ค่อนข้างมาก แต่ไม่เข้ารับการผ่าตัดหรือมีข้อห้ามที่สำคัญที่ทำให้ผ่าตัดไม่ได้ ก็อาจจะทำให้การฉีกขาดของเส้นเอ็นมีขนาดใหญ่ขึ้น คุณภาพเส้นเอ็นแย่ลง

รวมทั้งอาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง ทั้งในเรื่องของความเจ็บปวดที่มากขึ้น กล้ามเนื้อแขนอ่อนแรงและไหล่ติด ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต อีกทั้งการผ่าตัดในภายหลังจะทำได้ยากขึ้น ต้องใช้อุปกรณ์ในการผ่าตัดมากขึ้น ระยะเวลาในการผ่าตัดนานขึ้น การฟื้นตัวซับซ้อนขึ้น แนวโน้มการสมานของเส้นเอ็นลดลง และนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยหลายคนที่ปล่อยอาการทิ้งไว้เป็นเวลานาน จะทำให้ข้อไหล่มีสภาพแย่ลงตามธรรมชาติของโรคจนเกิดเป็นโรคข้อไหล่เสื่อม หรือทำให้เอ็นหัวไหล่ที่ฉีกขาดสภาพแย่ลงจนไม่สามารถเย็บซ่อมแซมได้ ก็อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่แทน ซึ่งมีความเสี่ยงและราคาที่สูงกว่าการผ่าตัดส่องกล้อง เพราะฉะนั้นหากมีอาการปวดไหล่ที่สงสัยว่าเกิดจากเอ็นหมุนข้อไหล่ฉีกขาด ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม



Written By
More from pp
‘สูตร’การจัดสรรวัคซีน – ผักกาดหอม
ผักกาดหอม เอาไปเอามา…ผู้บริหาร กทม.ใช่ย่อยเหมือนกัน             กรณีการฉีดวัคซีนใน กทม. สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย ๗ กลุ่มโรคเรื้อรัง เริ่มจะมองเห็นปัญหาแล้วว่าเหตุที่ถูกเทอยู่ตรงไหน
Read More
0 replies on “เอ็นหมุนข้อไหล่ฉีกขาดแล้วไม่ผ่าตัด อาจเสี่ยงเป็นซ้ำและนำไปสู่ข้อไหล่เสื่อมก่อนเวลาอันควร ”