ยืดเยื้อพังทั้งโลก-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

หายใจคล่องขึ้นมาหน่อย

เมื่อวันอังคารข่าวจากกรุงเคียฟ เว็บไซต์ทางการของประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ระบุว่ายูเครนพร้อมจัดการเจรจากับรัสเซียเกี่ยวกับการรับประกันความมั่นคง

และอนาคตของภูมิภาคโดเนตสค์ ลูฮานสค์ และไครเมีย

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี พูดระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอบีซี นิวส์ (ABC News) ว่า

“…ยูเครนจำเป็น ต้องมีข้อตกลงความมั่นคงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด

รวมถึงสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี และตุรกี

ยูเครนพร้อมสำหรับการรับประกันความมั่นคงของประเทศจากประเทศที่เกี่ยวข้อง

รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น

เพราะรัสเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่เพียงเป็นการรับประกันสำหรับยูเครน แต่ยังเป็นการรับประกันแก่รัสเซียในประเด็นที่เจรจากันมาอย่างต่อเนื่อง…”

ถ้าเป็นตามนี้ ความตึงเครียดในสงครามรัสเซีย-ยูเครน น่าจะเบาลง

บวกกับแถลงการณ์ที่ระบุว่า จะไม่ผลักดันให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต อีกต่อไปแล้ว นับเป็นการส่งสัญญาณที่ดี

แต่ผู้นำยูเครนก็ยังมีปัญหาเรื่องการแสดงท่าทีอยู่พอควร เพราะวิดีโอคอลกับรัฐสภาอังกฤษอีกอย่าง

“เซเลนสกี” ยังยันว่ายูเครนจะต่อสู้กับรัสเซียจนถึงที่สุดในทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะเป็นในป่า ทุ่งนา บนชายฝั่ง หรือบนถนน เราจะสู้ไม่ถอยเพื่อแผ่นดินของเรา ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไร

มีคนจับได้ว่าถ้อยแถลงดังกล่าวของ เซเลนสกี คล้ายคลึงกับสุนทรพจน์ปลุกใจของ วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกฯ อังกฤษ ในสมัยสงครามโลก

นั่นทำให้สมาชิกรัฐสภาอังกฤษตบมือกันเกรียว หลัง  “เซเลนสกี” พูดจบ

สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำยูเครน เริ่มจะเห็นความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

ทั้งสงครามและเศรษฐกิจกำลังทำให้ยูเครนพังพินาศ

สำนักข่าวซินหัว นำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์เยส! แมกกาซีน (Yes! Magazine) เมื่อวันจันทร์มาเผยแพร่

บทความชิ้นนี้ระบุว่า

“หลังจากสิ้นสุดการยึดครองอัฟกานิสถานนาน ๒๐ ปีของสหรัฐฯ และหลังจาก ๒๐ ปีของการทำ ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ นี่เป็นเวลาสำคัญที่จะประเมินถึงผลกระทบของลัทธิทหารของสหรัฐฯ และผลักดันให้เกิดการลดกำลังทหาร”

“แต่สหรัฐฯ กลับกระทำการในทางตรงกันข้าม โดยมีรายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ กำลังพิจารณาอนุมัติงบประมาณทางทหารมากเป็นประวัติการณ์ที่ ๗.๗ แสนล้านดอลลาร์ในปี ๒๕๖๖” คูรี ปีเตอร์เซน-สมิธ จากกลุ่มไมเคิล แรตเนอร์ มิดเดิล อีสต์  (Michael Ratner Middle East  Fellowship) ของสถาบันศึกษานโยบาย ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าวระบุ

บทความชิ้นนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลของชาติตะวันตกต้อนรับชาวยูเครนที่ลี้ภัยจากสงคราม และยอมรับผู้ลี้ภัยทุกคน เพราะที่จริงแล้ว ประชาชนจำนวนมากต้องลี้ภัยเพราะความรุนแรงจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร

ผู้เขียนบทความเชื่อว่า ต้องหยุดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกำลังกระทำต่อรัสเซีย

โดยระบุว่า “การคว่ำบาตร ซึ่งเจ้าหน้าที่มักจะใช้เพื่อเลี่ยงการทำสงคราม มักจะถูกมองว่าเป็นการก่อสงคราม” วันสองวันนี้ต้องรอดูสัญญาณจาก วลาดิมีร์ ปูติน ว่ามีปฏิกิริยาเช่นไรกับ การถอยหนึ่งก้าวของ “เซเลนสกี”

แต่ ๔ เงื่อนไขที่รัสเซียเสนอไปยังยูเครนก่อนหน้านี้ก็ชัดเจนไปแล้ว

๑.ยูเครนต้องยุติปฏิบัติการทางทหาร

๒.ยูเครนต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเป็นกลางมากขึ้น

๓.ยูเครนต้องยอมรับว่าแคว้นไครเมียเป็นของรัสเซีย

๔.ยูเครนต้องยอมรับสถานะความเป็นรัฐอิสระ ของเขตปกครองโดเนตสค์และลูฮานสค์

ถ้ารับได้ก็ยุติการโจมตี

ดังนั้นเงื่อนไข ไม่เข้านาโต การรับประกันความมั่นคง  จาก “เซเลนสกี” จะทำให้ “ปูติน” เดินหน้ายึดยูเครนต่อไม่ง่ายนัก

อย่างน้อยต้องหยุด และมาคุยกันก่อน

หากปล่อยให้ “เซเลนสกี” กับ “ปูติน” ได้คุยกัน จะเป็นผลดีต่อโลก โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจ ที่กำลังฉุดให้เดือดร้อนกันไปทั่ว

แต่ดูเหมือนว่า อเมริกา ไม่อยากจะจบง่ายๆ แต่ก็ไม่กล้าชนทางทหารกับรัสเซียโดยตรง เล่นตอดเสียมากกว่า

ยกเว้นมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ดูจะจริงจัง

ที่จริงต่างฝ่ายต่างคว่ำบาตร และต่างฝ่ายต่างเลือดไหลซิบๆ ไปตามๆ กัน

หยิกเล็บเจ็บเนื้อกันไปหมด

เพราะในแง่ข้อเท็จจริงเศรษฐกิจยุคใหม่มันพันกันไปทั่วโลก แค่พลังงานเรื่องเดียว ทั้งคนคว่ำบาตร คนถูกคว่ำบาตร และคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ต่างหน้าดำหน้าแดงไปตามๆ กัน

ถ้ายังมีอะไรหนักกว่านี้จะพินาศกันหมด

ฉะนั้นสงครามเต็มรูปแบบ อเมริกา นาโต ซัดกับ รัสเซีย เริ่มมีแนวโน้มว่าเกิดขึ้นได้ยาก

เท่าที่เห็นมีแต่ผลักหลังเพื่อนให้รบแทน คนที่ถูกผลักก็วิ่งกลับแทบไม่ทัน

ภาพเด่นชัดที่้สุดคือ รัฐบาลโปแลนด์ยื่นข้อเสนอ ส่งเครื่องบินขับไล่ MiG-29 ที่ผลิตโดยรัสเซียไปยังฐานทัพอเมริกันในเยอรมนี เพื่อให้อเมริกาเป็นผู้ส่งต่อไปยังยูเครน

แต่บางกระแสระบุว่า อเมริกาเป็นฝ่ายเสนอก่อน ให้โปแลนด์ ส่ง MiG-29 ไปให้ยูเครน โดยอเมริกาจะมอบ  F-16 ให้โปแลนด์ เป็นการแลกเปลี่ยน

หลังจากเจอปัญหาว่า ใครจะเป็นผู้ส่งไปให้ยูเครน จะให้นักบินชาติไหนขับเข้าไป หรือแม้กระทั่ง MiG-29 จะขึ้นจากสนามบินประเทศไหน ก็ดูจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เสียแล้ว

ลองใช้นักบินนาโตเป็นคนขับเข้าไปในยูเครน แล้วรัสเซียยิงตก เรื่องแดงขึ้นมา ก็เท่ากับนาโตเปิดสงครามกับรัสเซียแล้ว

เราจึงได้เห็นท่าทีจากอเมริกา โดย จอห์น เคอร์บี  โฆษกเพนตากอน พูดถึงข้อเสนอของโปแลนด์ว่า “ไม่สมเหตุสมผล เราเชื่อว่าข้อเสนอของโปแลนด์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้”

ขณะที่ วิกตอเรีย นูแลนด์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการการเมือง กล่าวต่อคณะกรรมการกิจการต่างประเทศของวุฒิสภาว่า

“สิ่งที่โปแลนด์เสนอมาทำให้สหรัฐฯ ประหลาดใจ เท่าที่ทราบ โปแลนด์ ไม่ได้ปรึกษาเราก่อนว่ามีแผนที่จะยกเครื่องบินเหล่านั้นให้เรา ฉะนั้น มันจึงเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์”

แต่ก็ขัดกับคำพูดของ “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ หลังรัสเซียบุกยูเครนใหม่ๆ

“สหรัฐฯ กำลังหารือกับโปแลนด์ว่าจะช่วยยูเครนอย่างไรได้บ้าง”

ฉะนั้นสงครามขนาดใหญ่ คงจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ

จะมีก็แค่การปะทะกันภายใน ยูเครน โดยทหารรัสเซีย กับยูเครน และพวกที่เข้าไปช่วยยูเครนรบ ขณะที่ยูเครนจะไม่ได้อะไรเลยถ้าไม่รีบจบ

นอกจากปล่อยให้ประเทศตัวเองเป็นสนามรบ เอาไว้รีวิวอาวุธจากฝั่งอเมริกา นาโต และรัสเซีย

ที่เหลือคงจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากการคว่ำบาตรระหว่างกัน หากปล่อยยาวนานไป จะเกิดปัญหาอื่นซ้อนมาอีกมากมาย

ทั้งอาหาร อุตสาหกรรม พลังงาน

โลกต้องเจอทั้งวิกฤตทางเศรษฐกิจ วิกฤตทางสังคม  และโรคระบาดในคราวเดียวกัน

คำว่า “สาหัส” คงจะเบาเกินไป


Written By
More from pp
ศรีสุวรรณ ร้อง กกต.สอบพรรคการเมืองใดอยู่เบื้องหลังประชามติแบ่งแยกดินแดนปาตานี
16 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดินได้เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อชี้เบาะแสให้...
Read More
0 replies on “ยืดเยื้อพังทั้งโลก-ผักกาดหอม”