เมื่อโลกไร้จริยธรรม-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

วานนี้ (๔ มีนาคม) เป็นวันช็อกโลกอีกวัน

ข่าวออกมาตั้งแต่เช้า กองทัพรัสเซีย ถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ในเมืองอีเนอร์โกดาร์ ของยูเครน  จนทำให้เกิดเพลิงไหม้

ตกใจกันไปทั่ว

หากสารกัมมันตรังสีรั่วไหล เกมเปลี่ยนทันที

รัสเซียจะกลายเป็นผู้ร้ายที่ไม่ควรให้อภัย

การปฏิบัติการทางทหารใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะมีความเสี่ยงเกิดหายนะไปทั้งทวีป หรือทั่วโลก

ในความร้ายแรงของสถานการณ์ถือว่าโชคดี

มีเพียงอาคารฝึกอบรมและห้องปฏิบัติการบางส่วนได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ ไม่กระทบกับเตาปฏิกรณ์ หรืออุปกรณ์สำคัญอื่นๆ ของโรงไฟฟ้า

ระดับการแผ่รังสีในพื้นที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เพราะเป้าหมายของรัสเซียคือยึด ไม่ใช่ทำลาย

และยึดไปสำเร็จ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีกำลังการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นราว ๒๕ เปอร์เซ็นต์ของยูเครน

นี่จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ต้องยึดให้ได้ ก่อนที่รัสเซียจะยึดเคียฟ เมืองหลวงยูเครน

สงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกสนามรบดูจะดุเดือดกว่าในสนามรบเสียอีก

มีประเด็นดรามาถาโถมไม่เว้นวัน

“ปูติน” ถูกตั้งค่าหัว ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (๓๓ ล้านบาท)

คนที่ตั้งค่าหัวคือ อเล็กซ์ โคนานีย์คิน (Alex  Konanykhin) มหาเศรษฐีอเมริกัน เชื้อสายรัสเซีย วัย ๕๕ ปี

ประกาศทางเฟซบุ๊ก ตั้งค่าหัวไล่ล่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เป็นจำนวน ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่คนที่สามารถจับปูตินได้

จับเป็นหรือจับตายก็ได้

ช่วงหลังๆ ข่าวลักษณะนี้เริ่มมีให้เห็นบ่อยขึ้น เช่นเมื่อปี ๒๕๖๓ อิหร่านเสนอค่าหัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ๘๐ ล้านดอลลาร์ ก็ร่วมๆ ๒.๕ พันล้านบาท

 ข่าวนี้ไม่ได้จริงจังอะไรเพราะสุดท้ายถูกเฉลยว่า ถ้าชาวอิหร่านลงขันคนละ ๑ ดอลลาร์ ก็ได้ ๘๐ ล้านดอลลาร์

คราวนี้ดูจริงจังกว่า แต่ในทางกฎหมายน่าจะทำไม่ได้

จับ ปูติน ได้แล้วจะส่งให้ใคร ฐานความผิดอะไร

หรือสังหาร ปูติน คนสังหารมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นทันทีเช่นกัน

สรุปแล้วก็แค่ดรามา

แต่ที่ไม่ดรามาคือ การลงมติในการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนครั้งที่ ๑๑ สมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA)  มีประเทศสมาชิก ลงคะแนนเสียงเห็นด้วย ๑๔๑ เสียง รวมถึงไทย เรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครน และถอนกองทัพทั้งหมดออกไปโดยทันที

ไม่เห็นด้วย ๕ เสียง ได้แก่ เบลารุส เกาหลีเหนือ  ซีเรีย เอริเทรีย และรัสเซีย

งดออกเสียง ๓๕ เสียง (อาเซียนมี สปป.ลาว  เวียดนาม และจีน อินเดีย ปากีสถาน)

จากทั้งหมด ๑๙๓ ประเทศ

นี่ถือเป็นฉันทามติของชาวโลก แต่ไม่มีผลผูกมัดรัสเซีย

กรณีนี้ถือว่าน่าสนใจมาก และควรใช้เป็นบรรทัดฐานหากมีการใช้กำลังทหารประเทศหนึ่งเพื่อยึดครองอีกประเทศหนึ่ง

เฉพาะกรณีที่มีข้อเท็จจริงจับต้องได้คือ การบุกยึดอิรักของอเมริกา

ไทเลอร์ ดรัมเฮลเลอร์ (Tyler Drumheller) อดีตหัวหน้าซีไอเอประจำภูมิภาคยุโรป เคยให้ข้อมูลกับหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษว่า การอ้างถึงข้อมูลจาก นักเคมีชื่อ ราเฟด อาห์เหม็ด อัลวาน หรือ “เคิร์ฟบอล” ซึ่งลี้ภัยในเยอรมนี ว่าซัดดัม ฮุสเซน สะสมอาวุธชีวภาพและเคมีไว้ในครอบครองจำนวนมากนั้นเชื่อถือไม่ได้

และส่งคำเตือนนี้ไปยังหัวหน้าซีไอเอขณะนั้นคือ จอร์จ เทอเน็ต หลายต่อหลายครั้ง

รวมทั้งในคืนก่อนหน้าที่ โคลิน พาวเวลล์ (Colin  Powell) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาจะกล่าวปราศรัยในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

แต่คำเตือนของเขาไม่ถูกนำมาพิจารณา

มีการยืนยันว่า ฝ่ายบริหารของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ต้องการทำสงครามมานานแล้ว แผนการบุกรุกของอเมริกา ถูกกำหนดไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ ๑๑  กันยายน ด้วยซ้ำ

ฉะนั้นอย่าได้แปลกใจที่มีคนเชื่อทฤษฎีสมคบคิดกันมากมาย

ฮาเวียร์ โซลานา (Javier Solana) อดีตหัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป และอดีตเลขาธิการนาโต ได้ให้ความเห็น ยืนยันว่า จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยหยิบยกกรณีอิรักเป็นหนึ่งในสองนโยบายด้านความมั่นคง  หลังจากที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี ๒๐๐๐

การบุกยึดดินแดนอื่นของอเมริกากับรัสเซียนั้นขั้นตอนแตกต่างกัน

อเมริกาจะใช้ยูเอ็นเป็นเครื่องมือ ส่วนรัสเซียว่ากันแบบลูกทุ่ง

แต่ผลลัพธ์ไม่ต่างกันมากนัก มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

ในอนาคต ยังมีความเป็นไปได้อีกหลายๆ กรณี

อเมริกายังคงป้วนเปี้ยนแถวๆ ตะวันออกกลาง

กับอิหร่าน ที่ยังไม่มีใครรู้ได้ว่าจะลงเอยแบบไหน

ย่านอาเซียน ทะเลจีนใต้ เอเชียตะวันออก เกาหลีใต้  ญี่ปุ่น ล้วนเป็นพื้นที่ที่อเมริกาเข้ามาสร้างอิทธิพล

ขณะที่จีน มีปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในทะเลจีนใต้กับหลายชาติในอาเซียน รวมถึงประเด็นรวมชาติกับไต้หวัน

กรณีเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ที่จีนกับอเมริกาแบ่งข้างสนับสนุนกันชัดเจน

ส่วนรัสเซีย ยังคงหวาดผวาเรื่องการวางกำลังทหารของอเมริกาและนาโตในประเทศเล็กๆ รอบๆ ชายแดนรัสเซียฝั่งตะวันตก


สงครามโดยประเทศมหาอำนาจจึงพร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ไทยเองก็มีโอกาสถูกดึงเข้าสู่สงครามได้ไม่ยากเช่นกัน

โลกยุคใหม่มุ่งเรื่องการค้าขายก็จริง แต่ทรัพยากรบนโลกมีจำกัดขึ้นทุกวัน นั่นอาจทำให้ต้องตัดสินใจกันด้วยกำลังทหาร

ครับ…หลังจากลุ้นทั้งวัน อีกข่าวที่ช็อกวงการการเมือง   ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง วัฒนา เมืองสุข  อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม.) และพวกรวม ๑๔ ราย

พิพากษายืนจำคุก วัฒนา เมืองสุข เป็นเวลา ๙๙ ปี  จากความผิด ๑๑ กระทง กระทงละ ๙ ปี

อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑  กำหนดอัตราโทษสูงสุด ๕๐ ปี

ริบเงิน ๘๙ ล้านบาทที่จ่ายเป็นสินบน

ก็เป็นอันปิดฉาก วัฒนา เมืองสุข และคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร

แต่ที่ไม่จบ คือความรับผิดชอบทางการเมือง

มีประเด็นที่ไม่ค่อยมีคนสนใจมากนัก แต่ในแง่จริยธรรมทางการเมือง ถือว่าค่อนข้างร้ายแรง

วัฒนา เมืองสุข ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๖๓ แต่พรรคไทยสร้างไทยเปิดตัวปี ๒๕๖๔

ตั้ง วัฒนา เมืองสุข เป็นประธานคณะกรรมการกฎหมายและการเมือง

แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” แต่ในแง่จริยธรรมทางการเมือง พรรคไทยสร้างไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

คดีนี้เป็นคดีคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ของการเมืองไทย

การเข้าสู่การเมืองก็ควรล้อไปกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ “วัฒนา เมืองสุข” และไทยสร้างไทยควรจะรอให้ ศาลฎีกาฯ พิพากษาถึงที่สุดก่อน

แต่กลับเพิกเฉย หนำซ้ำ ให้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการกฎหมายและการเมือง

นี่แหละครับการเมืองไทย จริยธรรมมาหลังเรื่องอื่นๆ เสมอ

Written By
More from pp
ภูมิคุ้มกันเสริมสร้างได้ เตรียมตัวให้พร้อมรับมือโรคที่มากับหน้าฝน
เมื่อประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ชื้นขึ้น อุณหภูมิที่ลดลงในช่วงฝนตก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร่างกายของเราอ่อนแอลง เกิดภาวะภูมิตกจากปัจจัยกระตุ้นต่างๆ รวมไปถึงการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่เกิดขึ้นง่ายและรวดเร็วมากขึ้น
Read More
0 replies on “เมื่อโลกไร้จริยธรรม-ผักกาดหอม”