‘ปืน’ กับ ‘การเมือง’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ออกจะเงียบไปนิด

ฝ่ายการเมืองแทบไม่มีใครออกมาพูดเรื่อง มือปืนวัย ๑๔ ไล่ยิงผู้คนในห้าง สยามพารากอน สักเท่าไหร่

ต่างกับเหตุการณ์ที่เกิดในรัฐบาลลุงตู่ คราวนั้นนักการเมืองฝ่ายค้านเล่นใหญ่ เรียกร้องให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบด้วยการลาออกด้วยซ้ำ

ก็พรรคเพื่อไทยนี่แหละครับ

แต่ก็เข้าใจได้มันมีความต่างอยู่ในบางประเด็น ยุคลุงตู่ คนก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่คราวนี้เป็นเด็กชายวัย ๑๔ ปี

กระนั้นก็ตามในภาพรวมมีการโจมตีว่ารัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาสังคม

มัวแต่ไปอุ้มนายทุน!

วันนี้เหตุการณ์เดิมๆ มันย้อนกลับมาอีกครั้ง ขณะที่รัฐบาลเพิ่งจะเข้าบริหารประเทศอย่างเต็มตัวยังไม่ถึงเดือน ส่วนหัวหน้าหน่วยราชการ อาทิ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็เพิ่งจะเริ่มทำงานในตำแหน่งหน้าที่ได้เพียง ๓ วันเท่านั้น

เพื่อความเป็นธรรม คงจะไปโทษรัฐบาล หรือราชการคงไม่ได้

แต่เหตุมันเกิดขึ้นมาแล้ว ที่ทุกฝ่ายต้องไปคิดร่วมกันคือ จะแก้ปัญหาลักษณะนี้อย่างไร

เชื่อเถอะครับ การกราดยิงในที่ชุมชน จะเกิดขึ้นอีก

ไม่เร็วก็ช้า เราจะได้เห็นข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกแน่นอน เพราะยังไม่มีการแก้ไปถึงรากเหง้าของปัญหาเลยแม้แต่นิดเดียว

รู้สึกขัดเคืองใจอยู่บ้าง กับแถลงการณ์ของ โรงเรียน The Essence ที่มือปืนวัย ๑๔ ศึกษาอยู่

“…ใคร่ขอความเห็นอกเห็นใจทุกท่าน โปรดเคารพความเป็นส่วนตัวของครอบครัวน้องที่เป็นผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนด้วย และหากผู้ปกครองและนักเรียนไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องการพบผมเพื่อพูดคุย ผมพร้อมที่จะพบทุกท่าน โปรดนัดหมายกับทีมแคร์ของโรงเรียนได้ครับ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง…”

ก็รับทราบครับว่า เด็กเยาวชน ต้องได้รับการปกป้อง

แต่การเคารพความเป็นส่วนตัวคืออะไร

แน่นอนครับ การไม่พูดถึงชื่อ การปิดบังใบหน้า สื่อหลักส่วนใหญ่เข้าใจตรงนี้ดีอยู่แล้ว

แต่การละเว้นไม่พูดถึงที่มาของเด็กคนนี้ สังคมก็ไม่อาจรับรู้ได้เลยว่า แรงจูงใจในการสังหารเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเกิดจากอะไร

ไม่ใช่การฆ่าหมาฆ่าแมวนะครับ

นี่คือการฆ่าคน

เด็กคนนี้ต้องมีปัญหาอะไรสักอย่าง ถึงได้ฆ่าคน ฉะนั้นเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตรวจสอบ ที่อาจมองได้ว่าไปขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัว

ไม่ใช่เฉพาะไทยครับ ในอเมริกาต้นตำรับสังหารหมู่ เขาก็ขุดคุ้ยกันว่าเด็กมีปัญหาอะไรถึงได้ลงมือก่อเหตุฆ่าคน

พวกข้อมูลพื้นฐานเช่น เรียนที่ไหน มีความขัดแย้งกับใครหรือไม่ ครอบครัวเป็นอย่างไร มีแนวคิดก่อความรุนแรงหรือไม่ หรือแม้กระทั่งแนวความคิดทางการเมือง ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระจ่าง

เห็นกันแล้วใช่มั้ยครับว่า มือปืนวัย ๑๔ คนนี้แค่สวมหมวกมีธงชาติอเมริกา มันก็เกิดดรามาในหมู่ชาวจีนแล้ว เพราะนักท่องเที่ยวจีนตกเป็นเหยื่อในครั้งนี้ด้วย

ผลกระทบมันไม่ได้กระทบแค่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ที่เป็นชาวจีน ๑ ราย และชาวเมียนมาอีก ๑ ราย หรือแม้กระทั่งโรงเรียน The Essence

แต่มันกระทบกับไทยทั้งประเทศ

ระยะสั้นนี้การท่องเที่ยวมีปัญหาอย่างแน่นอน

เมื่อเขาไม่สบายใจไม่มาเที่ยวบ้านเรา เพราะมีเหตุยิงกันในห้าง รัฐบาลเองก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องรอจนลืมๆ กันไปเองนั่นแหละครับ

แต่ปัญหาที่แท้จริงซึ่งยังไม่มีใครพูดถึงกันมากนัก เพราะส่วนใหญ่ระบุถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเสียมากกว่า

คือการครอบครองอาวุธปืน!

วันนี้ต้องยกนิ้วให้ “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ที่ได้นำเรื่องนี้ไปอภิปรายในสภา

ไอติม พูดหลายเรื่อง และหนึ่งในนั้นคือ การครอบครองอาวุธปืน แต่ก็เสียดายที่ไม่ได้ลงในรายละเอียดมากนัก

ใจความคร่าวๆ ที่ “ไอติม” อภิปรายคือแม้ปืนที่ถูกใช้ก่อเหตุจะเป็นปืนดัดแปลง แต่การที่ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอาชญากรรมปืนสูงสุดเป็นอันดับ ๓ ของทวีปเอเชีย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าควรมีการศึกษาทบทวนเรื่องการครอบครองปืนทั้งระบบ

จึงขอหารือผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้หาแนวทางปรับปรุงกฎหมายขออนุญาตปืนในระบบให้ครอบคลุมประเภทอาวุธมากขึ้นและมีกระบวนการที่รอบคอบมากขึ้น เช่น การให้ใบอนุญาตมีวันหมดอายุเพื่อต่ออายุ การเพิ่มเกณฑ์เรื่องสุขภาพจิต และปรับปรุงมาตรการปิดช่องทางค้าขายปืนนอกระบบให้มีประสิทธิภาพขึ้น…

แต่ก็ยังดีกว่าไม่พูดอะไรเลย

มีข้อเสนออื่นๆ เช่น เน้นวิชาศีลธรรม ศาสนา ในโรงเรียนให้มากขึ้น ก็ช่วยได้ครับ แต่ไม่ใช่การแก้ที่รากของปัญหา

ดูอเมริกาเป็นตัวอย่าง มีเหตุกราดยิงซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากกว่าไทยหลายเท่าตัว แต่ประเทศเจริญแล้วอย่างอเมริกาไม่เคยแก้ปัญหานี้ได้เลย

เหตุเพราะ “ปืน” คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกา แม้จะมีการเรียกร้องให้แก้กฎหมายการครอบครองอาวุธปืน แต่ไม่เคยมีการตอบสนองจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเดโมแครต หรือรีพับลิกัน

รัฐบาลไทยก็เคยทำอยู่บ้าง แต่ก็แค่น้ำจิ้ม เช่นรัฐบาลคสช. ให้พวกเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล มือปืน นิรโทษกรรมให้ผู้ครอบครองอาวุธปืนผิดกฎหมาย เอาปืนมามอบให้รัฐ ช่วงนั้นปืนเถื่อนก็หายไปเยอะ

แต่มันก็แก้ปัญหาการกราดยิงในที่สาธารณะไม่ได้หรอกครับ ตราบใดที่คนไทยจำนวนมากยังมีปืนอยู่ในครอบครอง

นักการเมืองบางคนแจงทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. มีปืนเป็นร้อยกระบอก ถือเป็นความชอบส่วนตัว แต่ก็นั่นแหละครับ การครอบครองอาวุธปืนไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย มันคือต้นเหตุการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนสูงลำดับต้นๆ ของโลก

มันก็เป็นไปตามสัดส่วน คนไทยครอบครองอาวุธปืนเป็นลำดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน

ญี่ปุ่น มีสถิติการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนต่ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง เพราะภายใต้กฎหมายควบคุมอาวุธของญี่ปุ่น พลเรือนทั่วไปไม่สามารถครอบครอง พกพา ดาบและปืนได้

ยกเว้นเฉพาะผู้มีใบอนุญาต เช่นนักกีฬายิงปืน แถมต้องผ่านการทดสอบทางจิตวิทยา ผ่านการสอบข้อเขียนและภาคปฏิบัติ ผ่านการตรวจสารเสพติด ตรวจสอบประวัติและพฤติกรรม อีกเยอะแยะ

ฉะนั้นพอจะเห็นวิธีแก้ปัญหาถึงต้นตอนะครับ

ถ้ารัฐบาลนี้อยากจะแก้ปัญหา หรือฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลต้องการแก้ปัญหา ก็ต้องเสนอให้เป็นรูปธรรม การพูดอย่างเดียวมันแก้อะไรไม่ได้

แต่ปัญหาของประเทศไทย นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว เรายังมีปัญหาใหญ่คือการบังคับใช้กฎหมายซ้อนขึ้นมาอีกด้วย

หยอดน้ำมันให้เจ้าหน้าที่รัฐนิดหน่อย อะไรก็ลื่นไปหมด จากที่ขออนุญาตยากก็กลายเป็นเรื่องง่าย

นี่ยังไม่นับซุ้มมือปืนสังกัดนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไปหมด

เห็นหรือยังครับว่า แค่เรื่องนี้ เรามีปัญหามากแค่ไหน

0 replies on “‘ปืน’ กับ ‘การเมือง’ – ผักกาดหอม”