การเก็บชิ้นเนื้อไต ความสำคัญ ข้อบ่งชี้ และวิธีการเตรียมตัว

พญ.เมธินี สุทธิไวยกิจ

อายุรแพทย์และอายุรแพทย์เชี่ยวชาญโรคไต

“การเก็บชิ้นเนื้อไต” เป็นวิธีการหนึ่งในการตรวจหาโรคเพื่อช่วยการวินิจฉัยและรักษาข้อบ่งชี้ เช่น โรคไตอักเสบ ซึ่งคนไข้มาด้วยอาการบวม ปัสสาวะมีเลือด มีไตวาย มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือไตวายโดยไม่มีสาเหตุอื่นอธิบายได้ ทางแพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดเล็กโดยใช้เข็มที่มีขนาดเล็กมากในการเก็บชิ้นเนื้อไต ด้วยวิธีการฉีดยาและทำอัลตราซาวด์ ไปพร้อมๆ กับการเก็บชิ้นเนื้อไต ซึ่งขนาดของชิ้นเนื้อที่ได้จะเล็กมาก โดยทั่วไปจะกว้างไม่เกิน 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร

เมื่อทำการเก็บชิ้นเนื้อไตเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นแพทย์จะนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ย้อมสี และบอกสาเหตุ ของโรคไตได้ โดยปกติกระบวนการตรวจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-7 วัน

ข้อห้ามในการเก็บชิ้นเนื้อไต

1. มีผิวหนังหรือเนื้อเยื่อติดเชื้อบริเวณที่จะใส่เข็มเก็บชิ้นเนื้อ
2. มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
3. ผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ
4. ลักษณะทางกายภาพของไตผิดปกติ เช่น horseshoe kidney, kidney cyst, hydronephrosis ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

การเตรียมตัวก่อนเก็บชิ้นเนื้อไต

1. คุมความดันให้ได้น้อยกว่า 140/80 mmHg
2. หยุดยาต้านเกร็ดเลือดอย่างน้อย 7 วัน (aspirin) หยุดยาละลายลิ่มเลือด (warfarin) 3 วัน หากไม่มีข้อห้าม
3. ตรวจเลือดดูเกร็ดเลือดและการแข็งตัวของเลือด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการเก็บชิ้นเนื้อไต

เลือดซึมบริเวณไต ปัสสาวะเป็นเลือดชั่วคราว และ ปวดบริเวณที่เจาะชิ้นเนื้อ

พญ. เมธินี ระบุว่าการเก็บชิ้นเนื้อไตเป็นวิธีการนึงในการตรวจหาโรค หากแพทย์แนะนำให้ทำ ขอให้ผู้ป่วยเตรียมตัวให้พร้อม ศึกษาทำความเข้าใจหลักการและความสำคัญก่อนทำหัตถการใดๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้ผู้ป่วยให้เข้าใจถึงขั้นตอนแล้วยังช่วยลดความกังวลใจในการรักษาได้อีกด้วย.

Written By
More from pp
การบินไทย ยกเลิกเที่ยวบิน โรม-มิลาน
๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓ นายนนท์ กลินทะ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา...
Read More
0 replies on “การเก็บชิ้นเนื้อไต ความสำคัญ ข้อบ่งชี้ และวิธีการเตรียมตัว”