อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไทย มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ไก่ให้เป็นสายพันธุ์ที่โตเร็ว มีความต้านทานต่อโรค มีเทคโนโลยีการป้องกันโรคที่ดี เลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่ทันสมัย มีการจัดทำฟาร์มมาตรฐาน GAP รวมทั้งเทคโนโลยีการผลิตอาหารที่มีสารอาหารเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยของไก่ ทำให้ไก่มีสุขภาพดีและเติบโตได้ดีโดยไม่จำเป็นต้องเสริมสารเร่งโตและยาปฏิชีวนะ
นอกจากนี้ กฎหมายประกาศยกเลิกและควบคุมการใช้ฮอร์โมนในไก่อย่างเคร่งครัดมาเป็นเวลากว่า 36 ปีแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศเพิกถอนทะเบียนยาฮอร์โมนชื่อ Hexoestrol ซึ่งเป็นฮอร์โมนตระกูล estrogen ที่ใช้ในสัตว์ปีก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ซึ่งหากมีการลักลอบใช้ ถือว่ามีความผิดและจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
น.สพ.สุเมธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฟาร์มมาตรฐาน GAP ทุกฟาร์มต้องมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มในการควบคุมกำกับดูแลในการตรวจสอบทั้งด้านสุขภาพสัตว์ ควบคุมการใช้ยา สารเคมีและการจัดการด้านอื่น ๆ ในฟาร์มด้วย ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการใช้ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะอย่างผิดวัตถุประสงค์ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในการเลี้ยงไก่ไทยแน่นอน 100%
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงไก่ในโรงเรือนระบบปิดเพื่อป้องกันโรค มีการควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม นำคอมพิวเตอร์มาควบคุมในการเลี้ยงไก่ที่สามารถตรวจเช็คได้ตลอด 24 ชม. ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นการลดการสัมผัสของคนและสัตว์ รวมถึงการปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์
ส่วนในกระบวนการผลิตของโรงงานจะมีระบบ GMP HACCP และจะมีระบบการตรวจรับรองคุณภาพต่างๆ ทั้งด้านกายภาพ เช่น ลักษณะเนื้อไก่ คุณภาพ สี ด้านเคมี จะมีการตรวจสารเคมีตกค้าง ด้านจุลชีววิทยา จะมีการตรวจเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ก่อนจำหน่ายออกไป ซึ่งกำกับดูแลโดยกรมปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานการส่งออก ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ของโลก ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ไก่ไทยจะมีสารตกค้าง หรือมีสารพิษสะสม
อย่างไรก็ตาม กรณีที่กระทรวงดิจิทัลเผยแพร่ว่า “กินคอไก่ ปีกไก่ หัวไก่ จะมีสารพิษสะสม” โดยอ้าง “คอไก่” เป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสต่างๆ รวมถึงมีการฉีดฮอร์โมนที่บริเวณปีกถึง 4 ครั้ง เพื่อเร่งการเติบโต ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงนั้น ขอให้กระทรวงดิจิทัลแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง และยกเลิกข้อมูลเท็จดังกล่าวทันที เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดของประชาชน