ส. กุ้งไทย เผยปีนี้ไทยผลิตกุ้งได้ 2.8 แสนตัน หากทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ชี้ 7 แนวทาง 1 ความร่วมมือ รัฐปรับบทบาท ฯลฯ หนทางความอยู่รอดของอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างยั่งยืน

หากรัฐมีธง/เป้า แผนพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนชัดเจน – เร่งแก้ป/หโรคได้เบ็ดเสร็จ- พัฒนาใช้เทคโนโลยีเลี้ยง -เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ- เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน -สร้างแบรนด์กุ้งไทย The Best of the best Shrimp in the World- ผนึกกำลังทั้งห่วงโซ่การผลิตฯ และอื่นๆ เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ประกอบด้วย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ

นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมฯ และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ นายเอกพจน์ ยอดพินิจ อุปนายกสมาคมฯ นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย

และ นายชัยภัทร ประเสริฐมรรค กรรมการบริหารสมาคม และ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี และคณะกรรมการฯสมาคมฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2564 ผ่านทางการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2564 โดยรวมอยู่ที่ 280,000 ตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ปี 2563 อยู่ที่ 270,000 ตัน) คาดปี 2565 ผลิตได้ 300,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4

“การผลิตกุ้งของไทยปีนี้ (ปี 2564) คาดจะผลิตได้ 280,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง ร้อยละ 33 จากภาคใต้ตอนบน ร้อยละ 32 จากภาคตะวันออก ร้อยละ 24 และ จากภาคกลาง ร้อยละ 11 ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ดังแสดงในตารางที่ 1

ส่วนการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้ ปริมาณ 128,758 ตัน มูลค่า 39,251 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่ส่งออกปริมาณ 123,297 ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า ที่ร้อยละ 4 และ ร้อยละ 9 ตามลำดับ ” (ดังแสดงในตารางที่ 2) แม้ประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าขนส่งราคาสูง และอื่นๆ” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว

นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างว่า “ผลผลิตปี 2564 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 92,000 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 12 พบการเสียหายโรคตัวแดงดวงขาว จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา โดยเชื้ออีเอชพีและโรคขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญต่อการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปี

โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง พบการเสียหายจากโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรลดความหนาแน่นในการเลี้ยงและทยอยการปล่อยกุ้ง เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรค และดูสถานการณ์ โดยเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีการพักบ่อ ทำความสะอาดบ่อและจัดการเคลียร์ระบบการเลี้ยงภายในฟาร์ม เพื่อเตรียมปล่อยกุ้งใหม่ในช่วงต้นปี 65

นายชัยภัทร ประเสริฐมรรค กรรมการบริหารสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งปี 2564 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนประมาณ 90,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยช่วงต้นปีเกษตรกรลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง และพบความเสียหายจากโรคตัวแดงดวงขาว

อย่างไรก็ตามการเลี้ยงครึ่งปีแรกให้ผลค่อนข้างดี สามารถทำผลผลิตได้ตามเป้าหมายและมีการลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง ส่วนครึ่งปีหลังด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น พบการเสียหายจากโรคอีเอชพี และ ขี้ขาวเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวนและโรคระบาด ทำให้เกษตรกรระมัดระวังมากในการเลี้ยงมากขึ้น โดยลดการความหนาแน่นและทยอยการปล่อยกุ้ง ส่วนช่วงปลายปีเกษตรกรมีการพักบ่อ ทำความสะอาดบ่อและจัดการเคลียร์ระบบการเลี้ยงภายในฟาร์ม เพื่อเตรียมปล่อยกุ้งใหม่ในช่วงต้นปี 65 เช่นกัน

นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งปี 2564 ในพื้นที่ภาคตะวันออกประมาณ 66,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 18 โดยจากสถานการณ์โควิดส่งผลให้แรงงานขาดแคลน เกษตรกรชะลอการเลี้ยงในช่วงต้นปี และพบความเสียหายของโรคตัวแดงดวงขาว โดยเฉพาะ จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด และพบโรคหัวเหลืองในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มากกว่าในปีที่ผ่านมา

ส่วนโรคอีเอชพี และ ขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญสำหรับการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปีโดยพบมาในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาปัจจัยการผลิต ต้นทุนแฝงจากการเสียหายจากโรค ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง

ส่วนผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 32,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีการลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงต้นปีสภาพอกาศแปรปรวน พบความเสียหายจากโรคหัวเหลืองและตัวแดงดวงขาว

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า “การเลี้ยงกุ้งของไทยในปีนี้ เกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงและเป็นต้นทุนแฝงกับเกษตรกร

ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกุ้งเปลี่ยนไปมากจากเดิมที่ไทยเป็นอันดับต้นๆ ในด้านการผลิตกุ้ง เพราะเรามีปัจจัยที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ เรื่องพันธุ์กุ้ง อาหาร และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ แต่ปัจจุบันสถานการณ์กุ้งเปลี่ยนไปมาก เราตกไปอยู่อันดับ 6 หรือ 7 ซึ่งเกิดจากการไม่มีการวางแผนในการนำสินค้ากุ้งไปสร้างตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง เราต้องหันมาร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง บริษัทอาหาร ปัจจัยการผลิต ผู้ส่งออก และภาครัฐ นำคำว่ากุ้งไทยกลับมาสู้กับตลาดโลก เพื่อเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง”

นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย ได้เปิดเผยถึง การพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย ว่าถึงเวลาที่ทุกคนในซัพพลายเชน หรือห่วงโซ่การผลิต ต้องช่วยกัน แบบเพื่อนช่วยเพื่อน เดินไปด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ อุตสาหกรรมอยู่รอดปลอดภัย และเติบโตอย่างยั่งยืน ที่สำคัญต้องทำหน้าที่ ให้เต็มที่และดีที่สุดในบทบาทของตน

เช่น ผู้เพาะฟักลูกต้องต้องผลิตลูกกุ้งคุณภาพดีให้กับผู้เลี้ยง ผู้เลี้ยงต้องผลิตกุ้งให้ได้คุณภาพ ปริมาณที่เพียงพอ ผู้ผลิตอาหารต้องผลิตอาหารที่ดี มีต้นทุนที่เหมาะสม ห้องเย็นต้องผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ากุ้งให้ได้มาตรฐานที่ยอมรับ นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีส่วนในการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม ทำงานเชิงรุกร่วมกันอย่างมีเอกภาพและบูรณาการเพื่อให้อุตสาหกรรมมีการพัฒนาไปอย่างยั่งยืน

นายเอกพจน์ ยอดพินิจ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวถึง “7 แนวทาง – 1 ความร่วมมือ-รัฐปรับบทบาท” เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้ง ว่า

1) ต้องกำหนดเป้าหมายการผลิตกุ้งในประเทศที่ชัดเจน

2) มีรูปแบบแนวทางการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม

3) ปัญหาโรคระบาดได้รับการแก้ไขป้องกันได้เบ็ดเสร็จ

4) เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน-ภาครัฐและสถาบันการเงิน สนับสนุนดอกเบี้ยพิเศษสำหรับเกษตรกร เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกร มีเงินทุนในการปรับโครงสร้างฟาร์ม และโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

5) สร้างช่องทางการขายและความได้เปรียบในการแข่งขันและการประชาสัมพันธ์เชิงรุก รวมถึงการเจรจา FTA

6)สร้างระบบมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม และ

7) นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ส่วน 1 ความร่วมมือนั้นเกษตรกรต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ด้านการเลี้ยง สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้น และที่สำคัญ ภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลง/ปรับบทบาท (Transform) จากการสนับสนุนและบริการซึ่งทำดีมาก และต้องทำต่อไป มาร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูอุตสาหกรรมอย่างจริงจังมากขึ้น

ที่กล่าวเช่นนี้ ด้วย 30 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนพยายามอย่างเต็มที่ในการนำพา/พัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรมที่มีมูลค่ากว่าแสนล้าน จนไม่เหลืออะไรให้เล่นแล้ว (เทหมดหน้าตัก) ถึงวันนี้ภาครัฐต้อง มามีส่วนในความรับผิดชอบ (ลงทุน) ในการพัฒนาฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยร่วมกับเอกชนในเรื่องเทคโนโลยีเรื่องการเลี้ยง ฯลฯ (ต้องลงมาช่วยอุตสาหกรรมมากขึ้น)

ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “อุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทย เราภูมิใจในเรื่องภาพลักษณ์ เรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้งเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก อาหารกุ้งที่มีประสิทธิภาพ การมีเกษตรกรผู้เพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้ง-เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่มีทักษะประสบการณ์ มีผู้ประกอบการห้องเย็นแปรรูปกุ้งที่มีความสามารถ และอื่นๆ

แต่ปัจจุบันสถานภาพการผลิตกุ้งของไทยไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะเชิงปริมาณ แม้ไทยไม่ได้เป็นที่หนึ่ง แต่ในเชิงคุณภาพเราไม่เป็นที่สองรองใคร เพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทย สามารถอยู่รอดได้ มีความยั่งยืนได้ สมาคมกุ้งไทย ขอเสนอ ให้ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิตจำเป็นต้องผนึกกำลังร่วมด้วยช่วยกัน การส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมเต็มกำลังจากภาครัฐ ที่สำคัญ คือ

(1). ทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตกุ้งของไทย สามารถควบคุม ได้ดี ได้ถูก – มีความสามารถในการแข่งขันฯ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยง (จะเลี้ยงแบบตามมีตามเกิดไม่ได้/แบบเดิมๆไม่ได้แล้ว) ที่สำคัญต้องหาทาง/วิธีตัดต้นทุนแฝงคือความเสียหายจากโรคกุ้งที่ยังรุนแรงอยู่ให้ได้

(2). รัฐต้องตั้งเป้าหมาย โดยต้องมีธงที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะเดินไปทางไหน อย่างไร เช่น สินค้าคุณภาพและมูลค่าสูง มีอะไรที่แตกต่างจากคู่แข่ง และเป้าหมายผลผลิตที่มั่นคง เช่น 4 แสนตัน เมื่อไร ส่งออกจะเท่าไร เป็นต้น ที่สำคัญรัฐต้องมีการส่งเสริมสนับสนุน แผนดำเนินการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สามารถทำได้จริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆดังกล่าว

(3). วางแผนและพัฒนาการผลิตกุ้ง ให้ได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ให้เพียงพอกับการส่งออกและบริโภคภายในปท. (เลี่ยง/ไม่จำเป็นต้องนำเข้า) ที่สำคัญให้มีความสามารถในการแข่งขันเบื้องต้นอาจไปศึกษา อินเดีย เอกวาดอร์ เวียดนาม ว่าผลิตกุ้งส่งออกไซส์ไหน เราจะหลีกเลี่ยงผลิตกุ้งไซส์นั้นๆ ก่อน

(4). ต้องมาส่งเสริมพัฒนาการผลิตและแปรรูปกุ้งกุลาดำ โดยจัดกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมสำหรับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และพื้นที่ที่เหมาะสมกับกุ้งกุลาดำ ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญต้องมีการส่งเสริม สร้างตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลผลิตกุ้งที่จะเพิ่มขึ้น ฯลฯ

(5). การพัฒนาการเลี้ยง ต้องมีรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงจากโรค โดยรัฐสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี รวมทั้งมีผู้สนับสนุนการพัฒนาที่ถูกต้องและร่วมรับผิดชอบด้วย เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจะได้นำไปลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อความยั่งยืน ฯ

(6). เรื่องต้นทุนวัตถุดิบผลิตอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก ภาครัฐจะมีแผนสนับสนุนอย่างไรให้เกิดประโยชน์ทั้งเกษตรกรและวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศ”

ดร. สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย
มือถือ 08-1830-2448

 


Written By
More from pp
ปุ้มปุ้ยคาดยอดขายปี 64 โตทะลุเป้าสวนกระแสโควิด
ปลากระป๋องปุ้มปุ้ย คาดยอดขายปี 64 เกินเป้า รับอนิสงส์จากโควิดคนอยู่บ้านทำงานและอุทกภัย ส่วนปี 65 คาดยอดขายโต 10% โดยยังคงเร่งปั๊มยอดขายจากปลา-หอยลายปรุงรส เนื่องจากเป็นสินค้าชูโรงครองตลาดอันดับ1 ตลอดกาล...
Read More
0 replies on “ส. กุ้งไทย เผยปีนี้ไทยผลิตกุ้งได้ 2.8 แสนตัน หากทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกัน ชี้ 7 แนวทาง 1 ความร่วมมือ รัฐปรับบทบาท ฯลฯ หนทางความอยู่รอดของอุตสาหกรรมกุ้งไทยอย่างยั่งยืน”