ศบค. ปรับมาตรการเร่งด่วนสกัด ‘โอไมครอน’ สอดคล้องทั่วโลก

29 พฤศจิกายน 2564 – ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า การติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ โอไมครอน ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศชัดเจนว่านับเป็นสายพันธุ์ที่มีความน่ากังวลสูง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องมีการปรับมาตรการอย่างเร่งด่วน สำหรับการติดเชื้อของต่างประเทศจากทั่วโลก หลายประเทศมีตัวเลขขยับขึ้นสูง เช่น สหราชอาณาจักร ตุรกี เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ขอเน้นย้ำว่าประเทศเหล่านี้มีตัวเลขประชากรฉีดวัคซีนแล้วค่อนข้างสูง

และก่อนหน้านี้หลายประเทศประกาศผ่อนคลายมาตรการ อนุญาตให้ประชาชนเลิกสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เปิดร้านอาหารได้อิสระ แต่ขณะนี้จะเห็นได้ว่าหลายประเทศกลับมาคุมเข้มมาตรการอย่างเข้มงวดใหม่ ทำให้เกิดการประท้วงในหลายพื้นที่ ในส่วนเอเชียนั้น ทิศทางตัวเลขยังทรงๆอยู่ มาเลเซียมีตัวเลขลดลงอย่างต่อเนื่อง มีประเทศที่น่าจับตามองขณะนี้คือ เวียดนามที่ตัวเลขกระโดดขึ้น สปป.ลาว มีตัวเลขเกินพันมากว่า2 สัปดาห์แล้ว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน ล่าสุด นอกจากทวีปแอฟริกาที่มีรายงานการพบเชื้อยืนยัน หลายประเทศในยุโรปตอนนี้มีรายงานแล้ว ทั้งอิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เบลเยี่ยม สาธารณรัฐเช็ก และล่าสุด มีรายงานยืนยันคือ ประเทศเดนมาร์ก พบเชื้อจากประชาชนที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มแอฟริกา ในส่วนของเอเชียมีอยู่ที่ฮ่องกง และอิสราเอล ขณะนี้อิสราเอลประกาศปิดประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และออสเตรเลียมีรายงานยืนยันพบโอไมครอนแล้วเช่นกัน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุมอีโอซีกระทรวงสาธารณสุข ได้เรียกประชุมวาระฉุกเฉินเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา เร่งด่วน เพื่อพิจารณาปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค โควิด-19 สำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร เป็นการปรับมาตรการให้สอดคล้องกับการปรับมาตรการก่อนหน้านี้ของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น บราซิล อิหร่าน และสิงคโปร์

จากการที่องค์การอนามัยโลกมีความเป็นห่วงสายพันธุ์กลายพันธุ์โอไมครอน ที่มีรายงานว่ามีการแพร่กระจายได้เร็วยิ่งกว่าสายพันธุ์เดลตา ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการรายงานด้วยความรุนแรง แต่องค์การอนามัยโลกได้ย้ำว่า ในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ และมีโรคประจำตัวถือว่ามีความเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง และเน้นย้ำว่าปัจจัยสำคัญในการเกิดเชื้อกลายพันธุ์มักจะเป็นประเทศที่มีประชากรที่ได้รับวัคซีนค่อนข้างต่ำ มีการกระจายวัคซีนไปยังประชาชนน้อยมาก ทำให้ภูมิคุ้มกันน้อยนั้นเป็นเหตุให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงย้ำว่าหากใครไม่รีบรณรงค์ให้ประชาชนฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรได้มากที่สุด เราอาจจะเป็นที่หนึ่งที่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อได้

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศแถบแอฟริกาใต้ที่เข้าไทย ตัวเลขที่รายงานระหว่างวันที่ 1- 27 พ.ย.64 สะสมอยู่ที่ 1,007 ราย ทั้งหมดนี้มีผลตรวจRT-PCR เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยเป็นลบ ตอกย้ำให้เห็นว่ามาตรการสาธารณสุขของประเทศไทยในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ ย้ำว่าการที่คงมาตรการเหล่านี้ไว้ถือเป็นการคัดกรองตรวจจับเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการปรับมาตรการเข้ารัฐอาณาจักรไทย ของทวีปแอฟริกาที่ประกาศเมื่อวันที่ 28 พ.ย. แบ่งกลุ่มประเทศแอฟริกาเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายงานเชื้อชัดเจนแล้ว

ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว หากประชาชนที่มีถิ่นพำนักจากประเทศเหล่านี้ เกิน 21 วัน จะเดินทางเข้ามาได้ในกรณีกักตัว และแซนด์บ็อกซ์ เท่านั้น และหลังวันที่ 27 พ.ย. เป็นต้นมา มีประกาศชัดเจนว่าจะไม่อนุญาตจากประชาชนจาก 8 ประเทศเหล่านี้ลงทะเบียนเพื่อขอเข้าราชอาณาจักรไทย แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ลงทะเบียนมาก่อนล่วงหน้านี้แล้ว ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน ตรวจRT-PCR 3 ครั้ง และมีการประกาศเพิ่มว่า 8 ประเทศนี้ หลังวันที่ 1ธ.ค.คือ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามไม่ให้มีการเดินทางเข้าประเทศไทย ยกเว้นเฉพาะคนไทย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กลุ่มที่สอง คือผู้ที่เดินทางจากทวีปแอฟริกานอกเหนือจากประเทศที่มีรายงานพบเชื้อ 8 ประเทศ มีเงื่อนไขว่าเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยแซนด์บอกซ์ ต้องกักตัวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนขอเข้าราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ 27 พ.ย. เป็นต้นไป หากลงทะเบียนมาก่อนหน้านี้แล้วจะต้องมีการกักตัว 14 วัน ตรวจ RT-PCR 3 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เดินทางมาถึงเมืองไทยก่อนหน้านี้ เช่น ที่มีจำนวนหนึ่งเดินทางมาถึงเมื่อวันที่ 15 พ.ย. นับถึง 5 ธ.ค.ขอให้เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานโรคติดต่อ เฝ้าระวังและติดตามอาการคนกลุ่มนี้ให้ครบ 14 วัน ขณะนี้มีการประสานงานทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เกือบ 200 ราย ซึ่งสามารถติดตามได้ทั้งหมด


Written By
More from pp
นวลพรรณ ล่ำซำ กงสุลกิตติมศักดิ์ฯ จัดงานเฉลิมฉลองวันครบรอบ 32 ปี การสถาปนาอิสรภาพ และวันครบรอบปีที่ 104 แห่งการฟื้นฟู “สาธารณรัฐลิทัวเนีย”
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 – นางนวลพรรณ ล่ำซำ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐลิทัวเนียประจำกรุงเทพมหานคร จัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 32 ปี แห่งการสถาปนาอิสรภาพสาธารณรัฐลิทัวเนีย...
Read More
0 replies on “ศบค. ปรับมาตรการเร่งด่วนสกัด ‘โอไมครอน’ สอดคล้องทั่วโลก”