โฆษกรัฐบาลเผย “นายกฯ” หารือเอกอัครราชทูตฯ ภูฏาน ผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความร่วมมือด้านวิชาการ

17 พ.ย. 2564 เวลา 10.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายคินซัง ดอร์จิ (H.E. Mr. Kinzang Dorji) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตฯ ที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในไทย โดยไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์ทางการทูตมากว่า 30 ปี มีความสัมพันธ์ระดับราชวงศ์ที่เป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ นายกรัฐมนตรียังคงรู้สึกประทับใจในการเดินทางเยือนภูฏานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561 ที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน

และประทับใจการต้อนรับระหว่างการเยือนภูฏานอย่างอบอุ่น หวังว่าเอกอัครราชทูตฯ มองไทยเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง และทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และกระชับความร่วมมือระหว่างไทย-ภูฏานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือและการทำงานกับเอกอัครราชทูตฯ อย่างเต็มที่

เอกอัครราชทูตฯ รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในไทย โดยทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น มีสถาบันกษัตริย์และพุทธศาสนาเป็นจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองประเทศ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอในทุกระดับ และประชาชนทั้งสองฝ่ายมีทัศนคติที่ดีต่อกัน

โดยชาวภูฏานมองเห็นไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวทั้งเชิงธรรมชาติและศาสนาที่สำคัญ หวังว่า ทั้งสองประเทศจะเดินทางไปมาหาสู่มากขึ้น นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังกล่าวยืนยันยกระดับความร่วมมือในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน การส่งออกสินค้าเกษตร ความร่วมมือด้านวิชาการ และความร่วมมือในกรอบทวิภาคีต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูตฯ ยังหารือถึงความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลภูฏานสำหรับไมตรีจิตที่มอบวัคซีน AstraZeneca 150,000 โดส ให้แก่ไทย บนพื้นฐานที่ไทยจะคืนวัคซีนฯ แก่ภูฏาน และขอบคุณรัฐบาลภูฏานที่ได้อำนวยความสะดวกแก่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ในการจัดเที่ยวบินอพยพเพื่อนำชาวไทยในภูฏานกลับประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย

ด้านเอกอัครราชทูตฯ กล่าวชื่นชมรัฐบาลในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม จนทำให้ไทยมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นนำไปสู่นโยบายเปิดประเทศ ซึ่งภูฏานยินดีที่ได้เป็นหนึ่งในประเทศหรือพื้นที่ต้นทางที่ผู้เดินทางสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เอกอัครราชทูตฯ ประสงค์ที่จะพัฒนาความร่วมมือเรื่องการส่งออกสินค้าเกษตร มายังประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีพิจารณายกระดับการค้าและการลงทุนในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกัน โดยภูฏานนับเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่นักธุรกิจไทยสามารถไปลงทุนได้ในสาขาการก่อสร้างและธุรกิจบริการ และการท่องเที่ยว

นายกรัฐมนตรีหวังว่า ไทยและภูฏานจะร่วมกันหาแนวทางเพื่อสนับสนุนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรตามความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย พร้อมได้กล่าวเชิญชวนให้ภูฏานใช้ประโยชน์จากโครงการ Duty Free, Quota Free (DFQF) ขององค์การการค้าโลก เพื่อยกระดับความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน

ด้านความร่วมมือทางวิชาการ ไทยและภูฏานยังมีความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในด้านทุนการศึกษาและหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุขและการพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนการส่งอาสาสมัครชาวไทยในโครงการ Friends from Thailand (FFT)

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก แห่งภูฏาน มีความสอดคล้องกัน และสามารถประยุกต์ใช้ในทางที่ส่งเสริมกันได้

โดยเอกอัครราชทูตฯ รู้สึกชื่นชมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูฏาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่า การมีส่วนร่วมและความร่วมมือของไทยจะช่วยให้ภูฏานบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และวิสัยทัศน์ระดับชาติของความสุขมวลรวมประชาชาติ

สำหรับความร่วมมือระดับพหุภาคี นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความพร้อมของไทยที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสําหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) และจะทำงานกับประเทศสมาชิกทั้งหมดอย่างใกล้ชิด เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านความเชื่อมโยงในภูมิภาค ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ของมนุษย์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนา BIMSTEC โดยการบูรณาการ “Bio-Circular-Green หรือ BCG Economy Model” ซึ่งเป็นการพัฒนาบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ด้านเอกอัครราชทูตฯ ยินดีพัฒนาความร่วมมือในระดับพหุภาคีและสนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธาน BIMSTEC ของไทย


Written By
More from pp
“อนุทิน” ยินดี “เศรษฐา” นั่งนายกฯ เชื่อ เป็นนิมิตรหมายอันดี สลายความขัดแย้ง บ้านเมืองเดินหน้า ย้ำ พร้อมทำงานเต็มที่
22 สิงหาคม 2566 ที่อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร ภายหลังการโหวตนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ระบุว่า ขอยินดีกับนายเศรษฐา...
Read More
0 replies on “โฆษกรัฐบาลเผย “นายกฯ” หารือเอกอัครราชทูตฯ ภูฏาน ผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความร่วมมือด้านวิชาการ”