เกษตรกรผู้เลี้ยงระทมทุกข์ ภัยน้ำท่วม-PRRS ทำหมูเสียหาย ขณะราคาซื้อขายต่ำกว่าทุน ขอผู้บริโภคเข้าใจ และภาครัฐช่วยเกษตรกร ให้ราคาเป็นไปตามกลไกที่แท้จริง
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ยังไม่นำลูกสุกรขุนชุดใหม่เข้าเลี้ยง โดยยังต้องฟื้นฟู ซ่อมแซม เพื่อเตรียมความพร้อมฟาร์ม ที่ได้รับความเสียหายอย่างมาก ซึ่งช่วงที่ผ่านมา มีผลผลิตสุกรเสียหาย เนื่องจากปัญหาโรค PRRS หรือ เพิร์ส โดยเฉพาะแม่พันธุ์ ทำให้ผลผลิตสุกรขุนลดลงในสัดส่วนเดียวกันที่ประมาณ 30-40 % นอกจากนี้ ในช่วงน้ำท่วม ยังเพิ่มความเสี่ยงการแพร่โรค PRRS กรณีที่มีหมูที่เป็นโรคดังกล่าวในพื้นที่ด้วย ขณะเดียวกัน ผู้เลี้ยงในสถานที่ใกล้เคียงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จะมีปัญหาการเดินทางที่ไม่สะดวก ทำให้ไม่สามารถนำสุกรเข้าโรงฆ่าได้ จึงพากันนำสุกรเข้าสู่ตลาดก่อนกำหนด ส่งผลให้ราคาสุกรปรับลดลงค่อนข้างมาก
“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยงครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ เกษตรกรเกิดความสูญเสีย โดยเฉพาะภาวะโรคในสุกร ประกอบกับน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรหลายรายพากันนำผลผลิตสุกรออกขายเพื่อหนีน้ำท่วม ทำให้ราคาตกต่ำลงอย่างมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคได้ชะลอการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงด้วย ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสุกรที่มีปัจจัยสำคัญมาจากวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาค่อนข้างสูง มีราคาเกือบ 11 บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับกากถั่วเหลืองที่ขณะนี้มีราคา 21 บาทต่อกิโลกรัม ฟาร์มสุกรในภาคอีสาน ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มเกษตรกรรายย่อย ได้ยกระดับการป้องกันโรคเพื่อป้องกัน ASF ด้วยระบบ Biosecurity ในฟาร์มอย่างเข้มงวด กลายเป็นต้นทุนแฝง ที่ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มสูงขึ้น 4-5 บาทต่อกิโลกรัม” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ผลผลิตสุกรขุนจึงมีจำนวนน้อยลงกว่าภาวะปกติ โดยคาดว่าไทยจะมีการผลิตหมูขุนจำนวน 15 ล้านตัวต่อปี จากเดิมที่มีการผลิตอยู่ที่ 19-20 ล้านตัวต่อปี หรือลดลง 25 % แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวผ่านต้นทุนที่ต้องแบกรับในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้ ซึ่งเป็นภาระหนี้สินภาคเกษตรที่ส่งผลต่อหนี้สินภาคครัวเรือน จึงขอให้ผู้บริโภคเข้าใจ และภาครัฐเห็นใจ พร้อมช่วยดูแลเกษตรกร ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกที่แท้จริง เพื่อให้ราคาขยับตัวอย่างมั่นคงเพื่อก้าวข้ามต้นทุน โดยผลเสียหายช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา จากราคาสุกรขุนต่ำกว่าต้นทุนทั้งประเทศมีมูลค่ารวม 8,000-10,000 ล้านบาท และมีราคาขายต่ำสุดที่ 56 บาทต่อกิโลกรัมช่วงต้นเดือนกันยายนที่ภาคตะวันตก
ทั้งนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอย่างช้าอาจใช้เวลา 2-3 ปี ในการที่จะเพิ่มสุกรพันธุ์เข้าเลี้ยงใหม่ เพื่อให้มีปริมาณเนื้อสุกรสมดุลกับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาล