โควิดที่ต้องเข้าใจใหม่-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

 นี่คือข่าวอย่างเป็นทางการครับ

            วานนี้ (๘ กันยายน) คุณหมออุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (ศบค.)  พูดในหัวข้อ “ใช้ชีวิตมีคุณภาพอย่างไร…ถ้าโควิด-๑๙ ยังแพร่ระบาดไปอีกนาน” ผ่านทางสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ (NBT)

     “…จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า การระบาดปัจจุบันสอดคล้องกับที่อู่ฮั่นระบาด ว่าคนที่ไม่มีอาการและไม่เคยไปตรวจโควิด-๑๙ เมื่อไปตรวจพบว่าเป็นโควิด-๑๙ อีกประมาณ ๕-๖ เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยัน

                ยกตัวอย่างในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ยืนยันใน กทม.ประมาณ  ๒.๕ แสนคน เอา ๖ เท่าคูณ หรืออีกราว ๑.๕ ล้านคนซึ่งเรียกว่าติดเชื้อแฝง ไม่เคยไปตรวจ ไม่มีอาการ ไม่ใช่แค่วันละ ๔-๕ พันคน เหมือนตัวเลขที่เห็นในปัจจุบัน

                ตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมทะลุไป ๑.๒ ล้านคน ถ้าเอา ๕-๖ เท่าคูณ จะมีคนติดเชื้อประมาณ ๖-๗ ล้านคนที่แฝงอยู่ และสามารถแพร่เชื้อมาให้เราได้ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการติดเชื้อจากคนใกล้ชิด แม้สนิทแค่ไหนก็ไว้ใจไม่ได้…”

            อย่าเพิ่งตกใจครับ

            เป็นการคาดการณ์ตั้งแต่แรกแล้วว่า จะมีผู้ป่วยไม่แสดงอาการมากถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์คือมีอาการ

            ไม่เฉพาะประเทศไทย

            ทั่วโลกก็เป็นแบบนี้

            ในทางกลับกัน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่แสดงอาการ คนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติ

            ฉะนั้น ขณะนี้คนไทยไม่ได้มีภูมิคุ้มกันเป็นศูนย์เหมือนช่วงโควิดระบาดใหม่ เพราะมีคนจำนวนมากได้รับวัคซีนไปแล้ว หรือไม่ก็ติดเชื้อไวรัสนี้ไปแล้ว

            ใน กทม.ประมาณ ๖-๗ ล้าน มีภูมิแล้ว

            แต่ปัญหาคือภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็ว

            คุณหมออุดม ยืนยันถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภายในเดือนธันวาคม เราจะฉีดวัคซีน ๒ เข็มได้ตามเป้า มากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรแน่นอน และจะฉีดเข็มที่ ๓ ได้ด้วย

                “ตอนนี้วัคซีนเพียงพอสำหรับเข็มที่สาม เพราะหลังจากเราติดตามพบว่า วัคซีนทุกตัว ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ เมื่อฉีดไปแล้วสามเดือน ภูมิมันตกทุกตัว

                ถ้าภูมิมันตกไปมากจะสู้กับเดลตาไม่ไหว เราต้องสร้างภูมิให้มากขึ้นด้วยการฉีดเข็มที่สาม โดยตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปเราจะได้เข็มที่สาม เป็นแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ เราวางแผนไว้เรียบร้อย”

            ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนต้องรับรู้คือ โควิด-๑๙ จะไม่หมดไปจากโลก

            นี่คือทัศนคติที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ 

            เราจะอยู่กับโควิดไปอีกนาน เหมือนอยู่กับไข้หวัด

            เราต้องฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ทุกปี เหมือนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ๔  สายพันธุ์

            พิจารณาตามไทม์ไลน์ วัคซีน นับจากเดือนนี้มีพอฉีดให้ประชาชนได้ครบตามเป้าที่วางไว้

            กันยายนมี AstraZeneca ๗.๓ ล้านโดส เดือนตุลาคม ๑๑  ล้านโดส เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม เดือนละ ๑๓ ล้านโดส

            Pfizer ที่จัดซื้อมาล็อตแรก ๒ ล้านโดสวันที่ ๒๙ กันยายน

            จากนั้นเดือนตุลาคม ๘ ล้านโดส พฤศจิกายน และธันวาคม เดือนละ ๑๐ ล้านโดส

            รวมแล้วไตรมาส ๔ มีวัคซีนให้ฉีดวันละเกือบ ๑ ล้านโดส

            วันนี้เรารู้จักโควิดมากขึ้น รวมทั้งผลกระทบในทุกด้านจากโควิด ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม การชั่งน้ำหนักระหว่าง สุขภาพกับเศรษฐกิจ  เริ่มสมดุลขึ้น

            เข้มเรื่องสุขภาพมาก เศรษฐกิจพัง

            ถ้าปล่อยเศรษฐกิจเสรีเลย สุขภาพก็พัง

            เราน่าจะเลยจุดนั้นมาแล้ว และสิ่งที่ประชาชนต้องเข้าใจและให้ความร่วมมือคือ “การผ่อนปรน” ต้องควบคู่กับ “การเคร่งครัด” เสมอ

            โควิดจะกลับมาวิกฤตอีกหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลหรือวัคซีนเป็นหลัก

            แต่อยู่ที่ประชาชน

            หากทุกคนเคร่งครัดจะเป็นการตัดวงจรการระบาดของโควิด-๑๙  อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

            ก็…ไม่ง่ายครับ

            ยกตัวอย่างการฉีดวัคซีน ในอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ ประชาชนได้รับวัคซีน Pfizer ครบ ๒ เข็มร่วมๆ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ แต่โควิดยังกลับมาระบาดอีก

            โดยเฉพาะอเมริกา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันกลับไปอยู่หลักแสนอีกครั้ง

            ไทยควรทำให้ได้เหมือนอังกฤษในขณะนี้

            ฉีดวัคซีนให้เยอะที่สุด

            คลายล็อกธุรกิจต่างๆ ให้มากที่สุด ผู้ใช้บริการต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีนแสดง

            ผู้ป่วยรายใหม่มีแน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ

            การตายก็ยังมีอยู่ แต่จะน้อยลงไปมาก

            นั่นคือสิ่งที่อังกฤษเป็นอยู่ในขณะนี้ บนพื้นฐานความเชื่อใหม่ โควิด-๑๙ จะยังอยู่กับเราต่อไป

            ความคิดเรื่องล็อกดาวน์เข้มข้น เจ็บแล้วจบ ณ เวลานี้ เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

            และไม่น่าจะมีประเทศไหนทำอีก

            แต่ปัญหาซ้อนปัญหามันมีอยู่มากมายครับ เพราะโควิด-๑๙ ไม่มีพรมแดน เหมือนที่มนุษย์พยายามทำกันอยู่

            ใครที่บอกว่า วัคซีน ล้นตลาดแล้ว ตลาดไม่ได้เป็นของผู้ขาย อย่าไปเชื่อครับ

            โกหกทั้งเพ!

            ของจริงคือวานนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาประณามบรรดาประเทศร่ำรวยที่กักตุนวัคซีน และยารักษา

            ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับป้องกันไวรัสโควิด-๑๙ เป็นจำนวนมาก

            มากแค่ไหน?

            WHO ยืนยันว่ามากจนทำให้เกิดความล้มเหลวในการกระจายทรัพยากรเหล่านี้อย่างเป็นธรรมไปยังประเทศยากจน

            ผลที่ตามมาคือ เป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ทั่วโลกยาวนานยิ่งขึ้น

            นั่นทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ได้มากขึ้น

            มาเรีย แวน เคอร์คอฟ หัวหน้าด้านเทคนิคขององค์การอนามัยโลก พูดไว้ชัดเจน

                “การกักตุนทรัพยากรดังกล่าว โดยเฉพาะวัคซีน ไม่เพียงแต่ไม่ยุติธรรม หรือผิดศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังทำให้ไวรัสโควิด-๑๙ แพร่ระบาดยาวนานขึ้นด้วย ส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตมากขึ้น”

            ที่ผ่านมา WHO ได้เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย ระงับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-๑๙ เข็มที่ ๓ (วัคซีนบูสเตอร์) ออกไปก่อนอย่างน้อย ๒ เดือน

            วัตถุประสงค์เพื่อกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มประเทศรายได้ต่ำอย่างยุติธรรม

            และเท่าเทียมกัน

            นอกจากนี้ ทางองค์การอนามัยโลก ขอให้กลุ่มประเทศร่ำรวยช่วยบริจาควัคซีนส่วนเกินไปยังประเทศยากจน

            โดยหวังว่า จะสามารถฉีดวัคซีนได้ราวอย่างน้อย ๑๐% ของประชากรทุกประเทศภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้

            การบริจาคเกิดขึ้นจริงครับ แต่ส่วนใหญ่เป็นการบริจาค เพราะวัคซีนที่กักตุนอยู่ใกล้จะหมดอายุ

            แต่การฉีดเข็ม ๓ ห้ามไม่อยู่ เพราะประเทศร่ำรวยหลายประเทศเริ่มวัคซีนบูสเตอร์แล้ว

            ขณะนี้อเมริกา ฉีดวัคซีนครบ ๒ เข็ม ให้แก่ประชาชนไปแล้วราว  ๕๓% ของประชากรในประเทศ

            ฉีดวัคซีนบูสเตอร์ให้แก่ประชาชนไปแล้วกว่า ๑.๓ ล้านคน

            ส่วนสหภาพยุโรป ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนครบโดสแล้วราว ๕๗% ของประชากรอียูทั้งหมด และเริ่มบูสต์เข็ม ๓ แล้ว

            ฉะนั้นอย่าโลกสวยครับ ความเหลื่อมล้ำระดับโลกยังมีอีกมาก แต่ละประเทศล้วนควานหาวัคซีนเพื่อให้ประชาชนของตนเองรอดจากโควิดกันทั้งนั้น

            แต่โควิดไม่มีพรมแดน

            ถ้าหมดก็ต้องหมดทั้งโลก

            ถ้ายังมีอยู่ ก็ไม่มีประเทศไหนรอด 

            จนกว่าจะมียารักษา และวัคซีนที่ดีกว่านี้.

Written By
More from pp
บริติช เคานซิล จัดงาน Alumni UK Special Talk and Networking เดินหน้าขยายเครือข่ายศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรทั่วโลก
นางสาวอุไรวรรณ สะโมลี หัวหน้าฝ่ายการศึกษา บริติช เคานซิลประเทศไทย พร้อมด้วยวิทยากรจากสภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย และวิทยากรศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรผู้เชี่ยวชาญ ร่วมงาน “Alumni UK Special Talk...
Read More
0 replies on “โควิดที่ต้องเข้าใจใหม่-ผักกาดหอม”