รมว.ทส. “วราวุธ ศิลปอาชา” โชว์วิสัยทัศน์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะ ผ่านเฟสกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ชี้คนไทยต้องร่วมมือร่วมใจ แก้ปัญหาขยะที่มีมากถึง 27 ล้านตันต่อปี ขอให้คัดแยก บริจาคเพื่อรีไซเคิล และทิ้งให้ถูกที่ถูกทางโดยเฉพาะมูลฝอยติดเชื้อ
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดให้มีกิจกรรมไลฟ์สด ผ่าน facebook กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อ multiple-use การใช้ซ้ำได้ ที่เน้นการนำเสนอแนวคิดและวิธีง่ายๆ ที่จะเปลี่ยนวิธีการใช้พลาสติกให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ในการนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้กล่าวว่า
ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะรวม 27 ล้านตันต่อปี โดยมีขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ ประมาณ 12 ล้านตัน และขยะที่เข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ เช่น การเผากำจัด หรือฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ประมาณ 11 ล้านตัน และเหลืออีกประมาณ 4-5 ล้าน เป็นขยะที่ยังถูกทิ้งขวาง ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง อีกทั้งช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด – 19 ส่งผลให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่เพิ่มขึ้นถึง 15 เปอร์เซนต์ จากเดิมที่มีวันละ 5,500 ตัน เป็น 6,300 กว่าตัน รวมถึงขยะจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วเพิ่มด้วยเช่นกัน
“สำหรับแนวทางจัดการขยะให้มีปริมาณลดลง โดยเฉพาะขยะพลาสติก ทางทส.ได้ขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รวมถึงพี่น้องประชาชน ดำเนินการในมาตรการต่าง ๆ เช่น ในสถานประกอบการเริ่มมี Green Hotel, Green Restaurant, Green Coffee Shop หรือแม้แต่ศาสนสถานที่เป็นสีเขียว เป็นต้น
รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ เช่น ร้านกาแฟให้ดำเนินการตามแนวทาง Green Coffee Shop ซึ่งได้รับตอบรับเป็นอย่างดีในปรับเปลี่ยนให้เกิดปริมาณขยะน้อยที่สุด เช่น เลิกการใช้น้ำตาลซอง เปลี่ยนมาเป็นถ้วยใส่น้ำตาลไว้ให้แทน ยกเลิกการใช้หลอด หรือในโรงแรมที่ส่งเสริมให้เกิด Green Hotel ที่ลดปริมาณขยะให้มากที่สุด เช่น เปลี่ยนมาใช้ขวดแชมพูใส่ยาสระผมแทนการใช้แบบซองพลาสติก
รวมถึงสร้างความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าในการงดให้ ลดให้ หรือ เลิกให้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งผู้ให้บริการ และพี่น้องประชาชน ทำให้ช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกที่จะกลายเป็นขยะลงได้อย่างมาก”
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ในช่วงเวลานี้ ทส. ได้มีโครงการดีๆ หลายโครงการ เช่น “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) ด้วยการนำพลาสติกมาอัพไซเคิลเป็นวัสดุที่นำมาใช้ใหม่ได้ เช่น นำขวดเพ็ท หรือพลาสติกที่ใช้แล้ว แปรสภาพเป็นจีวรพระ หรือบางที่นำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น อีกทั้งได้นำกระป๋องเครื่องดื่มอลูมิเนียมใช้แล้ว มาผลิตเป็นน้ำดื่มกระป๋องใหม่ แจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลสนาม และศูนย์พักคอย เป็นจำนวนรวมกว่า 50,000 กระป๋อง
อีกทั้งได้นำลังกระดาษที่ใช้แล้ว ซึ่งร่วมมือกับเครือเอสซีจี แปรสภาพลังกระดาษกว่า 40 ตัน เป็นเตียงกระดาษแข็งมอบให้โรงพยาบาลสนามแล้วกว่า 3,900 เตียง สิ่งเหล่านี้ คือความพยายามของ ทส. ในลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น และนำมาแปรสภาพเป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงของการเกิดสถานการณ์ระบาดนี้เกี่ยวกับการทิ้งขยะ รวมถึงขยะเสี่ยงการติดเชื้อต่าง ๆ ขอให้ทิ้งในถังขยะที่แบ่งตามประเภท ซึ่งประกอบด้วย ถังขยะสีเขียวสำหรับขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว, สีเหลืองสำหรับขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้, สีแดงสำหรับขยะที่เป็นอันตราย
เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์, สีส้ม สำหรับขยะติดเชื้อ และสีน้ำเงิน สำหรับขยะทั่วไป ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องมีถังขยะทั้ง 5 สีไว้ใช้ในบ้าน แต่สิ่งที่จำเป็นและอยากขอความร่วมมือคือ การทิ้งหน้ากากอนามัย ที่ต้องขอความกรุณาทิ้งกันอย่างให้ถูกต้อง ไม่ควรทิ้งด้วยการใส่ในขวดพลาสติก ซึ่งนอกจากไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้แล้ว ยังทำให้ขวดพลาสติกเหล่านั้นกลายเป็นขยะติดเชื้ออีกด้วย
ดังนั้นการกำจัดหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ควรใส่ลงในถุงพลาสติก แล้วทำการมัดปากถุงพ่นฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ พร้อมเขียนหรือติดป้ายว่าเป็นขยะติดเชื้อ ก่อนนำไปทิ้งยังจุดทิ้งตามที่กำหนดไว้ เช่น โรงพยาบาล หรือนำมาที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้จัดจุดทิ้งไว้ให้บริการ ดังนั้นหัวใจสำคัญในช่วงเวลานี้ คือ การทิ้งขยะอย่างถูกต้อง
“ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ถือว่าหนักหนาสากรรจ์มากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะช่วงโควิด – 19 ซึ่งต้องเรียนว่า สถานที่ที่ใช้ในการฝังกลบ หรือกำจัดด้วยการเผา มีน้อยลงทุกวัน เมื่อเทียบกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรถึงลดปริมาณขยะ แนวทางที่ทำได้คือ นำสิ่งที่ทิ้งกลับมาใช้ใหม่ เช่น ถุงพลาสติก แทนจะใช้ครั้งเดียว ขอความกรุณาใช้แล้วใช้ซ้ำอีก เพราะถ้าใช้ถุงพลาสติกนั้น 1 ใบ ซ้ำกัน 10 ครั้ง จะช่วยลดขยะไปได้ 10 ชิ้น หรือนำขยะเหล่านั้นไปอัพไซเคิล หรือรีไซเคิล เป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดได้อีกเป็นจำนวนมาก
วันนี้ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนว่า ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ขอให้คัดแยกขยะ และลดปริมาณการทิ้งลง และต้องทิ้งขยะให้ถูกขั้นตอน ถูกวิธี” นายวราวุธ กล่าวทิ้งท้าย