ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 ส.ค.64 ถึงสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและแนวโน้มในอนาคตโดยมีเนื้อหาสรุปดังนี้
เมื่อพิจารณายอดผู้ติดเชื้อใหม่ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา จะเห็นว่า เส้นความชันของกราฟน้อยลงกว่าเดิม และใกล้เขาสู่ระนาบเส้นตรง หลังจากนี้กราฟจะเริ่มกดหัวเป็นขาลง ขณะที่อัตราการติดเชื้อในภาพรวมลดล ส่วนตัวเชื่อว่าภายในกลางเดือนก.ย. น่าจะเริ่มเห็นตัวเลขขาลงของการระบาด
สิ่งที่ทำให้กราฟยอดติดเชื้อลดลงเกิดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.การฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้ไทยฉีดวัคซีนแล้วประมาณร้อยละ 28 ของจำนวนประชากร ถือว่าทำได้ดี บางวันฉีดสูงถึง 6 แสนโดส 2.มาตรการสังคม การปกครอง และ 3.มาตรการบุคคลในการป้องกันโรค
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนสูตร SA ด้วยเข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3 สัปดาห์ ให้ประสิทธิผลทางทฤษฎีในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง และมีประสิทธิผลในห้องปฏิบัติการยืนยัน
หากปลายเดือนส.ค.มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะต้องมีการกำหนดมาตรการ เช่น การแสดงหลักฐานฉีดวัคซีนในมือถือ หรือเป็นการให้สถานประกอบการบริการจุดตรวจโควิด-19 ชนิด แอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ที่มีความไวและความจำเพาะดีๆ ไว้ให้ลูกค้า เพื่อตรวจก่อนเข้าใช้บริการ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า จุดคลายล็อกที่น่าจะปลอดภัยคือ การฉีดวัคซีนที่ร้อยละ 50 ของจำนวนประชากร ขณะนี้ไทยฉีดแล้ว 26 ล้านโดส แต่หากฉีดได้ตามเป้าหมายเดือนละ 15 ล้านโดสหรือเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดส เมื่อรวมกันจะได้ประมาณ 40 ล้านโดส นั่นคือภายในกลางเดือนกันยายนนี้ ควรจะได้ฉีดได้ 40 กว่าล้านโดส เพื่อให้เข้าใกล้ตัวเลขร้อยละ 50 ของจำนวนประชากร คนไทย 70 กว่าล้านคน ก็ควรจะได้วัคซีน 35 ล้านคน
ปลายเดือนสิงหาคม ตัวเลขอาจจะยังไม่ดี แต่อีก 14 วันให้หลัง น่าจะคลายล็อกได้ค่อนข้างปลอดภัย แต่ต้องเลือกพื้นที่และกิจกรรมให้เหมาะสม มีการติดตามอย่างเข้มงวด