ผักกาดหอม
ก็ไม่รู้ซินะ…
จีนระบาดหลักสิบ
อินเดียระบาด จากวันละ ๓ แสน วันนี้เหลือแค่ ๔ หมื่น
อินเดียคือต้นกำเนิดสายพันธุ์เดลตานะครับ
จีนใช้ซิโนแวคเป็นหลัก
ส่วนอินเดียแอสตร้าเซนเนก้า
ฉะนั้นถ้าบอกว่า วัคซีนที่ไทยใช้อยู่คือ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ล้มเหลวแล้ว ไม่สามารถจัดการกับไวรัสกลายพันธุ์ได้เลย มันก็ดูกระไรอยู่
ไม่มีใครเถียงหรอกครับว่าวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวค คุณภาพจะด้อยกว่าวัคซีนสารพันธุกรรม (mRNA) เพราะอย่างหลังคือเทคโนโลยีใหม่
และยังไม่มีใครรู้เช่นกันว่า ผลกระทบระยะยาวของวัคซีน mRNA คืออะไร
แต่ระยะสั้นๆ ที่เห็นกันคือ ‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’ มีความเชื่อมโยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก
ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นอีกเทคโนโลยี
เป็นวัคซีนแบบเทคนิคไวรัลเวกเตอร์ (Viral Vector) ผลิตจากเชื้อไวรัสอะดีโนเป็นพาหะ (Adenoviral vector)
พัฒนาโดยการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง แล้วฝากสารพันธุกรรมของโควิด-๑๙ เข้าไป ซึ่งทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวและไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้
ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน แต่ยังอยู่ในระดับจุดทศนิยม
และวัคซีนที่มาว่าทั้งหมดนี้ องค์การอนามัยโลกรับรองแล้ว
แต่วัคซีนทุกตัวประสิทธิภาพล้วนลดลง เพราะไวรัสกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
ล่าสุดองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน หรือกาวี (GAVI) ลงนามในข้อตกลงการกำหนดราคาล่วงหน้า (APA) กับบริษัทซิโนแวค ในการจัดหาวัคซีนโควิด-๑๙ ให้กับโครงการ COVAX จำนวน ๓๘๐ ล้านโดส
เพื่อจัดแบ่งให้กับประเทศที่เข้าร่วมโครงการ COVAX ทั่วโลก
ตามข้อตกลงดังกล่าว บริษัทซิโนแวคจะจัดหาวัคซีนโควิด-๑๙ จำนวน ๕๐ ล้านโดส ภายในสิ้นเดือนกันยายนของปีนี้
GAVI สามารถจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน ๑๕๐ ล้านโดส ในไตรมาสที่สี่ของปีนี้
และจำนวน ๑๘๐ ล้านโดส ในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า
เมื่อถึงเวลานั้น วัคซีนซิโนแวคที่จัดซื้อจะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๓๘๐ ล้านโดส
ครับ…ไมใช่เรื่องเชียร์วัคซีนยี่ห้อไหน หรือไปด้อยค่าวัคซีนยี่ห้ออะไร
แต่นี่คือความเป็นจริงของโลก
ไม่ใช่ความจริงบนคีย์บอร์ดในประเทศไทย
ถามว่าทำไม GAVI เชื่อในซิโนแวค และจะแจกจ่ายวัคซีนที่คนไทยบอกว่ามีปัญหาไปยังกว่า ๑๘๐ ประเทศทั่วโลก
ย้ำอีกทีนะครับ วัคซีนโควิดทุกยี่ห้อ คือวัคซีนฉุกเฉิน
รีบคิดค้น
รีบวิจัย
รีบผลิต
รีบฉีด
ทุกอย่างต้องรีบ เพราะฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-๑๙ ที่ไวกว่าไฟลามทุ่ง
วันนี้หากยังไม่มีวัคซีนออกมา คนจะตายเป็นเบือ
รวมทั้งในประเทศไทย หากไม่มีวัคซีนที่ฉีดไปแล้วกว่า ๑๓ ล้านโดส ผู้ป่วย คนตาย เพราะโควิด-๑๙ จะมากมายกว่านี้อีกเยอะ
ฉะนั้นเมื่อพูดถึงวัคซีน ก็ค่อยๆ คิดครับ
อย่าพูดเอามัน หรือสนองความคิดตัวเองเป็นหลัก
ยิ่งพูดเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองด้วยแล้ว เข้าขั้นระยำเลยทีเดียว
ใครที่เอาแต่ด้อยค่า ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ก็ให้ดูจีนกับอินเดียเป็นตัวอย่าง นั่นคือของจริง
ถ้าเป็นงานวิจัย ก็เป็นงานวิจัยที่ใช้ตัวอย่างเป็นร้อยล้านตัวอย่าง
มันมากมายมหาศาล
สถานการณ์ของ GAVI แทบไม่ต่างจากไทยเท่าไหร่
ก่อนนี้ GAVI ใช้บริการไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แอสตร้าเซนเนก้า โนวาแวกซ์ เป็นหลัก
ปริมาณที่ได้มาก็กระจุ๋มกระจิ๋ม เพราะวัคซีนส่วนใหญ่ถูกส่งให้ประเทศร่ำรวย จนโครงการ COVAX ส่อล้มเหลว ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนให้ประเทศสมาชิกตามกำหนดเวลาได้
ในภาวะขาดแคลนวัคซีนอย่างรุนแรง ซิโนแวคจึงเป็นทางออก
ใครที่ยังคิดว่าจะเอาวัคซีน mRNA ให้ได้เดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ได้ไม่ยอมฉีด ก็ควรจะเข้าใจสถานการณ์
วันนี้ไม่มีประเทศไหนคุมสถานการณ์วัคซีนได้ครับ นอกจากประเทศผู้ผลิต
ขนาดไทยอยู่ในสถานะ “รับจ้างผลิต” ก็ยังมีปัญหาส่งวัคซีนล่าช้า
เมื่อล่าช้าก็ต้องแก้ปัญหาหน้างานกันไป
ปัญหาที่ซ้อนปัญหาในขณะนี้คือวัคซีนหายาก แต่ฉีดซิโนแวค ๒ เข็มแล้วภูมิคุ้มกันตก
เรื่องภูมิคุ้มกันตกอย่างรวดเร็ว อย่าไปเข้าใจผิดว่าเกิดกับทุกคนนะครับ มันเกิดกับเฉพาะบางคนเท่านั้น แต่มันก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
สิ่งที่ “หมอยง” นำเสนอไป คือฉีดวัคซีนข้ามแพลตฟอร์ม
ไม่ใช่ข้ามยี่ห้อนะครับ มีคนบางพวกเอา “หมอยง” ไปล้อเป็นเรื่องขบขัน ผมจะบอกเลย เอาไว้บุพการีคนพวกนี้ติดโควิด แล้วต้องพึ่งพาประสิทธิภาพของวัคซีนจากการวิจัยฉีดข้ามแพลตฟอร์มนี้ พวกคุณจะนึกถึง “หมอยง”
ลองกลับไปอ่านกันให้ชัดๆ นะครับ “หมอยง” บอกว่า เป็นการฉีดข้ามแพลตฟอร์มระหว่างวัคซีนเชื้อตายกับไวรัลเวกเตอร์
เบื้องต้นฉีดสลับในไทยแล้วมากกว่า ๑,๒๐๐ คน
ที่ฉีดมากที่สุดคือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ไม่ปรากฏว่ามีใครมีอาการข้างเคียงรุนแรง
ผลที่ได้ตอนนี้คือ
ฉีดซิโนแวคเข็มแรก แล้วฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มสอง ภูมิเกือบเท่ากับฉีดแอสตร้าเซนเนก้าสองเข็ม นั่นหมายความว่าประสิทธิภาพในการสู้กับสายพันธุ์เดลตาสูงขึ้นด้วย
การค้นพบนี้ไม่ได้ช่วยเฉพาะคนไทย แต่จะช่วยคนทั้งโลกในยามที่ขาดแคลนวัคซีนเช่นนี้
ซิโนแวคเข็มแรกตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีน mRNA หากจะมีการวิจัยต่อ อาจจะเป็นการซื้อเวลา สำหรับประเทศที่เข้าร่วมโครงการ COVAX และรับซิโนแวค ๓๘๐ ล้านโดสไป แล้วไปฉีดข้ามแพลตฟอร์มด้วยวัคซีนยี่ห้ออื่นในช่วงเวลาที่วัคซีนเริ่มจะหาได้ง่ายขึ้น
“หมอยง” พูดอยู่ประโยคหนึ่ง
“การศึกษานี้ ฝรั่งไม่ทันแน่นอน เพราะฝรั่งไม่ได้ใช้วัคซีนเชื้อตาย และจีนก็ไม่ได้ใช้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์อย่างกว้างขวางในขณะนี้”
สำคัญครับ เพราะข้อจำกัดของเรา ทำให้เราได้วิจัยในสิ่งที่ฝรั่งและจีนไม่มีโอกาสวิจัย
เสียงท้วงติงจาก WHO ก็ลองไปฟังให้ชัดๆ ว่า เขาติงเรื่องอะไร
WHO ไม่ได้ท้วงติงสิ่งที่ไทยกำลังวิจัยอยู่ แต่เป็นการบอกว่าประชาชนทั่วไป ไม่ควรตัดสินใจด้วยตัวเองในการฉีดวัคซีนข้ามแพลตฟอร์ม
แต่ควรเป็นหน่วยงานสาธารณสุขตัดสินใจบนฐานของข้อมูลที่มี
และ WHO ยังไม่ข้อมูลนี้
“หมอยง” ถึงบอกไงครับว่า ฝรั่งไม่ทัน จีนก็ยังไม่รู้
แต่เราวิจัยอยู่.