เพรียกหาตุลาการภิวัตน์-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

นั่นแหละครับท่านผู้ชม…

            ใครคิดว่าตัวเองแน่ ไม่มีทางติดโควิด….ดูไว้

ขนาดนายกฯ ยังเฉียดแล้วเฉียดอีก

            ครับ…พล.อ.ประยุทธ์ ขอกักตัว ๑๔ วันตามกฎ แม้จะตรวจแล้วมีผลเป็นลบ คือไม่พบเชื้อ ก็ต้องเวิร์กฟรอมโฮมครึ่งเดือน

            สำหรับม็อบ และแกนนำม็อบที่กำลังคึก เพราะเชื่อว่า  พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่ารอด ก็รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ให้แคล้วคลาดจากโควิด

            เริ่มมีการพูดถึงการเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ในทางกฎหมาย ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตุลาการภิวัตน์ ในประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๙

            ที่สืบเนื่องจากวิกฤติการเมืองในขณะนั้น

            และระบอบทักษิณ ไม่พอใจตุลาการภิวัตน์ มองว่าเป็นการแทรกแซงการเมืองโดยฝ่ายตุลาการ

            ขณะที่ปัญหาคอร์รัปชันโดยระบอบทักษิณ ไม่สามารถแก้ไขโดยการเมืองได้ เพราะเกิดเผด็จการรัฐสภา  ตุลาการภิวัตน์จึงเกิดขึ้น

            ตุลาการภิวัตน์ที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พ.ศ.๒๕๔๓

            เกิดจากการที่ศาลสูงสหรัฐอเมริกาให้ยุติการนับคะแนนใหม่ของรัฐฟลอริดา และทำให้จอร์จ ดับเบิลยู. บุชได้รับชัยชนะเหนืออัล กอร์ไปโดยปริยาย

            ตุลาการภิวัตน์ที่คล้ายไทยมากที่สุดน่าจะเป็นเกาหลีใต้

            คอร์รัปชันในเกาหลีใต้ มาพร้อมๆ กับการสร้างเศรษฐกิจในยุคของอดีตประธานาธิบดีพัค จุงฮี ช่วงปี  ๒๕๐๓-๒๕๑๓

            ยุคหลังๆ มานี้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้แทบทุกคน เมื่อพ้นจากตำแหน่งมักจะถูกดำเนินคดี ในคดีคอร์รัปชัน        แต่บางคนบอกว่าคือการเช็กบิลทางการเมือง

            ก็แล้วแต่จะคิด!

            ครับ…ไม่กี่วันก่อน ๒ นักวิชาการจาก ๒  มหาวิทยาลัย ใช้สื่อสารออนไลน์ แสดงความเห็น ให้ศาลสร้างบรรทัดฐานเอาผิดกับผู้นำประเทศ

            รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก เอาไว้ว่า

                “….ถึงเวลาที่ศาลต้องสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการเอาผิดกับผู้บริหารสูงสุดของรัฐในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผิดพลาดจนก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประชาชน การเพิกเฉยไม่ทบทวนผลลัพธ์ของการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด

                การไม่รับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน และความล่าช้าในการดำเนินการแก้ปัญหาทั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล เป็นพยานหลักฐานที่ชี้ชัดถึงการ  ‘งดเว้น’ หน้าที่ที่พึงต้องกระทำ และ ‘จงใจ’ ที่จะให้ความเสียหายดำรงอยู่ต่อเนื่องไป การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนี้เลยระดับของความประมาทเลินเล่อไปแล้ว….”

                “….ในสถานการณ์ปกติ ต้นเหตุของความล่าช้าอาจมาจากระบบราชการที่ซับซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่นักการเมืองรวบอำนาจตามกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จเพื่อแก้ปัญหา ความล่าช้าและความล้มเหลวทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาวัคซีน จัดสรรวัคซีน  การจัดการกับผู้ป่วย และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ไม่อาจโทษใครได้เลย นอกจากความไร้ประสิทธิภาพและขาดความรับผิดชอบของผู้ใช้อำนาจนั้น….”

                “…..เหตุผลสำคัญ ๒ ประการที่ทำให้การใช้อำนาจของรัฐบาลตามพระราชกําหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างขาดความรับผิดชอบ

                หนึ่ง มีบทบทบัญญัติ (มาตรา ๑๗) ยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง อาญา และวินัยให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ บทบัญญัตินี้เป็นต้นเหตุของการใช้อำนาจโดยขาดความรับผิดชอบ ด้วยการสร้างความมั่นใจผิดๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะในระดับสูงสุดว่า ไม่ว่าตัดสินใจหรือกระทำการผิดพลาดอย่างไรก็มีเกราะป้องกันในทางกฎหมาย บทบัญญัติลักษณะนี้เป็นบทบัญญัติที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและหลักกฎหมายทั่วไป และไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับใดเลย เพราะหากเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยความสุจริตกฎหมายก็จะเป็นเกราะป้องกันให้เอง

                สอง ขาดกลไกในการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจและการใช้อำนาจตามพระราชกำหนด ศาลเป็นกลไกในทางกฎหมายที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยยับยั้งการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดโดยขาดความรับผิดชอบ แต่หากศาลมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธไม่รับคดีไว้พิจารณาเพียงเพราะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายฉุกเฉินที่มีบทบัญญัติคุ้มครองผู้ใช้อำนาจ บรรทัดฐานนี้จะยิ่งทำให้ฝ่ายบริหารยิ่งใช้อำนาจโดยขาดความรับผิดชอบอย่างที่สุด และศาลเองอาจกลายเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้ตัวในการสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจแบบมักง่ายโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน

                เมื่อแรกใช้อำนาจตามพระราชกำหนดเพื่อจัดการสถานการณ์เมื่อปีที่แล้ว ผู้ใช้อำนาจอาจมีข้ออ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปี ข้ออ้างนี้ย่อมหมดความชอบธรรมลง

                เมื่อความเสียหายมากมายที่ปรากฏชัดเจนอยู่ตรงหน้าและเสียงร้องของประชาชนทั่วหัวระแหงไม่อาจยกระดับความรับผิดชอบในการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดให้สูงขึ้นได้ ศาลจึงเป็นความหวังสุดท้ายที่จะช่วยสร้างบรรทัดฐานในการใช้อำนาจว่า ไม่ว่าอำนาจนั้นจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงใด ก็ไม่อาจใช้โดยปราศจากความรับผิดชอบได้ และไม่ว่าผู้ใช้อำนาจจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ไม่อาจรอดพ้นการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการไปได้…”

            อีกคนคือ รศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แชร์โพสต์ของ รศ.ดร.มุนินทร์ พร้อมแสดงความคิดเห็นพ่วงไปด้วย

                “ในฝรั่งเศส ปี ๑๙๙๙ อดีตนายกรัฐมนตรี รมต.กระทรวงสาธารณสุข และ รมต.กระทรวงสังคม ต้องขึ้นศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐ ด้วยข้อหาฆ่าคนตายและทำให้คนบาดเจ็บโดยไม่เจตนา (homicides et  blessures involontaires – คดี l’affaire  du san6g contaminé)

                จากมาตรการตรวจสอบเชื้อ HIV ในการบริจาคโลหิตไม่ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการรับบริจาคโลหิตปนเชื้อ HIV ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบมากกว่า ๑  พันคน”…

            ครับ…ถือซะว่าเป็นข้อเสนอทางวิชาการ

            นี่ไม่ใช่การไล่นายกฯ ด้วยการตะโกนโหวกเหวกโวยวายแบบที่ม็อบสองนิ้วสามนิ้วเขาทำกัน

            แต่เป็นข้อเสนอให้ศาลลงโทษตามกฎหมาย

            ในภาพรวมคือ ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป โดยใช้ตุลาการภิวัตน์ ที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับระบอบทักษิณ

            เพียงแต่เงื่อนไขยังแตกต่างกันมาก เพราะไม่ใช่ประเด็นคอร์รัปชัน

            HIV เป็นวิกฤติของโลกก็จริง แต่ไม่ได้เศษเสี้ยวของโควิด-๑๙ ที่พังเศรษฐกิจโลกให้ย่อยยับตามไปด้วย เพราะระบาดได้ง่ายกว่ากันเยอะ

            ความผิดพลาดในการบริหารจัดการ กับการปรับแผนตามสถานการณ์ของการระบาด เป็นลำดับแรกที่ต้องแยกให้ออก

            แต่ก็ดีครับหากจะมีใครฟ้องให้ศาลเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ฐานฆ่าคนตายและทำให้คนบาดเจ็บโดยไม่เจตนา

            จะได้ปัดฝุ่นฟ้องอดีตนายกฯ ฆ่าคนตายโดยนโยบายพ่วงไปด้วย.

Written By
More from pp
“พปชร.” พร้อมผลักดันนโยบายเข้าถึงบริการแพทย์เท่าเทียมทุกพื้นที่ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มคุณภาพชีวิตดูแลระบบสาธารณสุขครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล
ร.อ.นพ.พิชาญศักดิ์ บุญมาศ ผู้สมัคร ส.ส. นครศรีธรรมราช เขต 9 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 พรรคพลังประชารัฐได้มีการถอดบทเรียน...
Read More
0 replies on “เพรียกหาตุลาการภิวัตน์-ผักกาดหอม”