คำว่า มะยงชิด ประกอบด้วยคำว่า มะยง กับคำว่า ชิด คำว่า มะยง เป็นชื่อมะปรางพันธุ์หนึ่ง รสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ส่วนคำว่า ชิด หมายถึง ใกล้ สนิท คำว่า ชิด ใน มะยงชิด น่าจะหมายถึง หวานสนิท ดังไตรภูมิโลกวินิจฉัย ของพระมหาธรรมปรีชา (แก้ว) ใช้คำว่า ชิด ขยายคำว่า หวาน ดังข้อความว่า “ผลมะม่วงนั้นสีเหลืองเป็นสีทอง ส่งกลิ่นหอมอยู่รวยรื่น ทั้งรสก็หวานชิด หวานสนิท” ในบทความเรื่อง สวน ของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ก็กล่าวถึงมะยงชิดว่าเป็นมะปรางประเภทหนึ่ง ดังนี้
“มะปรางนั้นเราแบ่งประเภทไปตามรสมี ๒ อย่าง คือเปรี้ยวกับหวาน แต่คำที่ชำนาญพูดกันนั้นประณีตออกไปอีกถึง ๕ อย่างตามรสนั้น คือ มะปรางที่มีรสหวานชืดๆ ไม่มีเปรี้ยวแกม เรียกว่า มะปรางหวาน” ที่มีรสเปรี้ยวแกมแต่น้อย มีหวานเข้าประสมเป็นรสประหลาดมาก เรียกว่า “มะยงชิด”
ที่มีรสเปรี้ยวมากกว่าหวานเรียกว่า “มะยงห่าง” แลที่เปรี้ยว มีรสหวานรู้สึกแต่เล็กน้อย เป็น “มะปรางเปรี้ยว” ตามธรรมดา ยังเปรี้ยวแจ๊ดอีกพันธุ์หนึ่ง ผลใหญ่งาม ลางแห่งก็เท่าฟองไก่ตะเภา เรียกว่า “กาวาง” เพราะเปรี้ยวเหลือที่จะประมาณ จนนกกาไม่อาจจิกกินได้แล้ว”
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา