วันที่ 14 พ.ค. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีนโยบายให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้มากที่สุดเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ลดโอกาสความรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งนำไปสู่กรณีที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีมติเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ให้รูปแบบการฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 เป็นต้นไปประกอบไปด้วย 3 รูปแบบ ซึ่งจะรวมถึงรูปแบบที่ประชาชน Walk In เข้ามารับวัคซีน ณ จุดบริการต่าง ๆ ด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนขณะนี้คือจัดหาวัคซีนที่เพียงพอกับประชาชนทุกคน จึงได้มีการปรับเป้าหมายการจัดหาจาก 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส ส่วนรูปแบบการกระจายวัคซีนนั้นดำเนินการผ่าน 3 รูปแบบเริ่มดำเนินการในเดือน มิ.ย.2564 คือ 1. การนัดผ่านไลน์ หรือแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่รัฐบาลจะจัดให้ 2. นัดเป็นกลุ่มก้อน เช่น อสม. หรือองค์กรภาครัฐและเอกชนรวบรวม และ 3. รูปแบบ Walk In โดยสัดส่วนการจัดสรรจะอยู่ที่ 30 : 50 : 20 และปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสมตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเห็นสมควร
“ในส่วนของรูปแบบที่ 3 คือการเปิดให้ Walk In นั้นตามนโยบายรัฐบาลจะจัดให้มีอย่างแน่นอน เพื่อเปิดโอกาสให้กับประชาชนกลุ่มที่ไม่สามารถลงทะเบียนผ่านระบบตามรูปแบบแรก และไม่ได้ผ่านการนัดหมายแบบกลุ่มก้อนในแบบที่ 2 แต่การให้วัคซีนแบบการ Walk In นี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องพิจารณาทั้งประเด็นของปริมาณวัคซีนและสถานการณ์การแพร่ระบาด เช่น กรณีของกรุงเทพมหานคร ที่แม้นโยบายของรัฐบาลเห็นว่าให้ประชาชน Walk In รับวัคซีนได้ แต่ผู้รับผิดชอบพื้นที่เห็นว่าสถานการณ์ยังไม่เหมาะสมที่จะมีการ Walk In เนื่องจากเป็นพื้นที่แพร่ระบาดสูง หากมีกิจกรรมรวมตัวจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้น ทางกรุงเทพมหานครจึงยังไม่เปิดให้มีการ Walk In ในขณะนี้ แต่จะมีอย่างแน่นอนเมื่อมีความพร้อม เนื่องจากขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่ไว้แล้วหลายแห่ง ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดติดตามการประกาศของจังหวัด ซึ่งจะยึดแนวนโยบายของรัฐบาลเพียงแต่มีรายละเอียดต่างตามสถานการณ์ของพื้นที่เท่านั้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในประเด็นเกี่ยวกับการรับส่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนในเวลานี้ เพื่อลดความสับสน รัฐบาลขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลของทางการโดยเฉพาะประกาศของทางจังหวัด ส่วนการรับข้อมูลทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ขอให้รับด้วยความระมัดระวังมีการตรวจสอบที่มาอย่างรอบด้าน และขอความร่วมมือผู้จัดทำชุดข้อมูล กราฟฟิก หรือข้อความเพื่อส่งต่อผ่านช่องทางต่าง ๆ ขอให้เป็นการทำข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคม ลดการสร้างความสับสน เพื่อความเข้าใจร่วมกันจะนำไปสู่การควบคุมการแพร่ระบาด การดูแลสภาพและชีวิตประชาชนที่มีประสิทธิภาพ และคนไทยจะได้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน