‘ทางม้าลาย’ กับ ‘จิตสำนึก’-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ตั้งหลักกันให้ดีนะครับ!

เรื่องตำรวจขี่รถบิ๊กไบก์ชนคุณหมอ ขณะข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย บริเวณหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์  ถนนพญาไท เสียชีวิต มันไม่ใช่แค่เรื่องของตำรวจคนที่ก่อเหตุ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือรัฐบาล

แต่มันเป็นปัญหาของทุกคน

เดี๋ยวเราจะได้ยินคำว่า ขอให้กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ เป็นกรณีสุดท้าย แต่เชื่อเถอะครับ ในชั่วชีวิตของเราจะได้เห็นข่าวทำนองนี้อีก

อาจเป็นข่าวคุณหมอขับรถซิ่งชนตำรวจจราจรเสียชีวิต

รถทหารชนเด็ก

เสี่ยขับรถหรูชนนักศึกษา ฯลฯ

เหตุเกิดได้ทุกที่ที่เป็นถนน

ไม่ว่าจะเป็นทางตรง ทางโค้ง ย่านชุมชน ทางม้าลาย  บนท้องถนนในประเทศไทยสามารถเกิดเรื่องทำนองนี้ได้ทั้งสิ้น

ขณะที่เราอ่านข่าว ตำรวจขี่รถบิ๊กไบก์ชนคุณหมอเสียชีวิต โดยเฉพาะคนใช้รถลองถามตัวเองดูครับว่า เคยหยุดรถขณะคนข้ามทางม้าลายหรือไม่

หรือถ้าให้ประเสริฐกว่านั้น เคยหยุดรถตรงทางม้าลายก่อนที่คนข้ามถนนจะย่างเท้าลงถนนหรือไม่

ย้อนกลับไปวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ น้องลิ้นจี่ นางสาววิลาวัณย์ พุ่มมาลา ถูกบิ๊กไบค์ชนขณะข้ามทางม้าลายบริเวณแยกผังเมือง เขตห้วยขวาง และเสียชีวิตในภายหลัง มีการถอดบทเรียนกันเยอะครับ

ถอดเสร็จก็จบกัน บ้านใครบ้านมัน ไม่มีหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบหน่วยงานไหน ทุบโต๊ะ! บอกว่าปล่อยเอาไว้แบบนี้อีกต่อไปไม่ได้แล้ว

ที่สำคัญสังคมโดยรวมไม่ตระหนัก เพราะผู้เสียชีวิตไม่ใช่ญาติพี่น้องของตัวเอง

สังคมอาจมีความรู้สึกเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้บ้าง รู้สึกโกรธแค้นคนไม่เคารพกฎจราจร แต่เวลาผ่านไป ก็พัดพาความรู้สึกทั้งหมดให้ผ่านไปด้วย

สุดท้ายก็ลืม

ครับ…ก่อนเกิดเหตุกับ คุณหมอกระต่าย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เชื่อว่า สังคมไทยลืมกรณี “น้องลิ้นจี่” ไปแล้ว

ลืมไปหมดแล้วว่า เมื่อขับรถผ่านทางม้าลาย สิ่งที่ต้องตระหนักคือ มีคนข้ามทางม้าลายหรือเปล่า

หากจะขุดปัญหานี้มาแก้ไขจริงๆ ไม่ใช่แค่ด่า “ลุงตู่” มันปาก ว่าคุมตำรวจไม่ดี หรือด่าตำรวจในภาพรวมว่าเลว นะครับ

แต่เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมด้านลบในการขับรถ การใช้ถนน ของคนไทย

ปี ๒๕๖๓ องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ ๙  ของโลก

สูงที่สุดเป็นอันดับ ๑ ในเอเชียและอาเซียน

ปีละกว่า ๒๒,๔๙๑ ราย

คิดเป็น ๓๒.๗ คนต่อประชากร ๑ แสนคน

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร  กระทรวงคมนาคม พบ ๓ สาเหตุหลัก คือ

๑.การชนทั่วไป

๒.จากบุคคล เช่น การขับรถเร็ว ขับตัดหน้า

๓.จากอุปกรณ์ เช่น ห้ามล้อขัดข้อง

สถิติมันฟ้องว่านี่คือปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข แต่ที่ผ่านมาเหมือนไฟไหม้ฟาง ครั้งนี้ก็คงจะเป็นแบบเดิม เดี๋ยวก็ลืมกันไป

คงเคยได้ยินนะครับ “วินัยสร้างชาติ”

ประเทศไหนประชาชนไร้วินัย ประเทศนั้นสร้างชาติไม่ได้

วินัย คือ ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ มาจากกฎหมาย

เราได้ยินบ่อยว่าวินัยการจราจร แต่เรารู้จักกฎหมายจราจรโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางม้าลายดีแค่ไหน

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทางม้าลายเอาไว้หลายมาตรา อาทิ

มาตรา ๒๒ วงเล็บ ๔  “สัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป หรือสัญญาณจราจรไฟสีแดงแสดงพร้อมกับสัญญาณจราจรไฟลูกศรสีเขียวชี้ให้เลี้ยวหรือชี้ให้ตรงไป ให้ผู้ขับขี่เลี้ยวรถหรือขับรถตรงไปได้ตามทิศทางที่ลูกศรชี้ และต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง และต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามหรือรถที่มาทางขวาก่อน”

หมายความว่า  ตรงทางม้าลาย ไม่ว่าไฟจะเขียวหรือแดง ต้องหยุดรถให้คนข้ามถนนก่อน

มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นในกรณีต่อไปนี้

วงเล็บ ๒ “ภายในระยะสามสิบเมตรก่อนถึงทางข้าม ทางร่วมทางแยก วงเวียนหรือเกาะที่สร้างไว้ หรือทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ”

หมายความว่า ระยะ ๓๐ เมตร ก่อนถึงทางม้าลาย ห้ามแซงรถคันอื่นเด็ดขาด ถ้าตำรวจที่ชนคุณหมอ ปฏิบัติตามกฎหมายมาตรานี้ คุณหมอกระต่ายจะไม่เสียชีวิตครับ

มาตรา ๕๗ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถ

วงเล็บ ๔ ในทางข้าม หรือในระยะสามเมตรจากทางข้าม

มาตรานี้ถือเป็นวาระแห่งชาติเลยทีเดียว กฎหมายบอก ห้ามจอดรถทับทางม้าลาย โดยนับจากเส้นไปก่อนและหลัง ๓  เมตร แต่ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ และรถยนต์จำนวนมาก มักจอดทับทางม้าลาย จนกลายเป็นเรื่องปกติวิสัย

 มาตรา ๗๐ ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้ามเส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ

เป็นอีกมาตรา หากผู้ใช้รถปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จะไม่มีคนข้ามถนนเสียชีวิตแน่นอน

วันนี้ (๒๔ มกราคม) เป็นวันคล้ายวันเกิดของคุณหมอกระต่าย ครอบครัวคุณหมอหัวใจแตกสลายครับ เพราะการไร้วินัยจราจร ที่คนใช้รถส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ

กรณีนี้ผู้ก่อเหตุเป็นตำรวจ ความผิดต้องบวกเพิ่มเพราะเป็นผู้รักษากฎหมาย กลับทำผิดเสียเอง

เรื่องนี้ไม่ใช่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพราะความประมาทเท่านั้น

แต่เป็นเรื่องจิตสำนึก

ฝากถึงนักการเมือง เพราะเริ่มโหนกรณีนี้หาเสียงกันหลายคนแล้ว นี่ไม่ใช่แค่ปัญหารับปากส่งเดชว่าจะแก้ไขหนึ่งสองสามสี่ โดยเฉพาะ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

เพราะเห็นโพสต์เฟซบุ๊ก ร่ายเป็นฉากๆ ว่าวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการกวดขันวินัยจราจรกันอย่างจริงจัง ลงโทษสถานหนัก จับ ปรับ จำ ยึดใบขับขี่

….

จะเห็นวินัยจราจรที่หย่อนยานทั่วไปหมด พอไฟแดง แต่รถว่าง ก็ฝ่าไฟแดงกันจนเป็นเรื่องปกติ เราเห็นรถมอเตอร์ไซค์ขับย้อนศร ขับบนทางเท้า รถจอดซ้อนคัน พอมีคนไปตักเตือน ยังโดนด่ากลับมาอีก….

“ชัชชาติ” ยังบอกว่า

….ทาสีแถบทางข้ามมีความชัดเจน ไม่กระดำกระด่าง มีความกว้างมากขึ้น เหมือนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้คนที่ขับขี่รถยนต์สามารถเห็นได้ในระยะไกล

มีการติดตั้งไฟแสงสว่างให้เพียงพอ และสัญญาณไฟกระพริบเตือน

มีการติดตั้งป้ายเตือนทางข้ามไว้ล่วงหน้าก่อนถึง

มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่หยุดให้คนข้าม

ในจุดที่มีคนข้ามจำนวนมาก ติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดง เพื่อให้ข้ามได้อย่างปลอดภัย….

ทุกคนก็รู้แบบที่ “ชัชชาติ” รู้

และมันต้องทำตั้งแต่สมัย “ชัชชาติ” เป็นรัฐมนตรีคมนาคมด้วยซ้ำ

ถามว่า “ชัชชาติ” รู้วิธีทำให้จิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนของคนไทยมีเทียบเท่าคนญี่ปุ่นหรือเปล่า

เพราะ กล้อง CCTV ไฟเขียวไฟแดง ไม่สามารถติดได้ทุกที่

แต่จิตสำนึกมันต้องมีทุกที่


Written By
More from pp
รัฐบาลลุยลดจุดความร้อน ต้นเหตุฝุ่น PM2.5 สี่เดือนแรกลด 53%
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยแนวทางสำคัญอันหนึ่งคือการลดจุดความร้อน (Hot Spot) ลดการเผาในที่โลงแจ้ง ซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda)...
Read More
0 replies on “‘ทางม้าลาย’ กับ ‘จิตสำนึก’-ผักกาดหอม”