กรมศุลกากร ชี้แจงประเด็นไม้พะยูงของกลาง

11 เมษายน 2564-เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2564 ช่องเวิร์คพอยท์ 23 รายการบรรจงชงข่าว นำเสนอประเด็นนักธุรกิจชาวลาวขอคืนไม้พะยูง 160 ล้าน หลังโดนอายัด 16 ปี โดยมีการกล่าวอ้างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่ยังไม่สามารถคืนไม้พะยูงของกลางแก่ผู้ที่อ้างกรรมสิทธิ์ได้

นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร กรมศุลกากร ได้เปิดเผยว่า กรณีไม้พะยูงของกลางดังกล่าว เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่สถานทูตลาวประจำประเทศไทย ผู้ขนส่งสินค้าผ่านแดน และเจ้าของตู้สินค้า ร่วมกันตรวจสอบไม้พะยูงผ่านแดนบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 11 ตู้ ที่อยู่ในอารักขาของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ตามที่ได้รับแจ้งขออายัดจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดมุกดาหาร

ในเบื้องต้น ไม่พบตรา ปมล. ซึ่งเป็นตราป่าไม้ของลาว พบเพียงตราอักษร ต ซึ่งเป็นตราป่าไม้ของไทยประทับไว้เพียงบางท่อน จึงสันนิษฐานว่า ไม้ดังกล่าวถูกลักลอบตัดในไทย และปลอมใบอนุญาตผ่านแดน

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 แจ้งคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเพราะพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง โดยไม่ได้ขอให้ศาลริบไม้ของกลาง แต่แจ้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการเกี่ยวกับของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85

อย่างไรก็ดี กรมป่าไม้ได้รื้อฟื้นคดี เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ โดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม สำนักงานอัยการสูงสุดจึงแจ้งให้ด่านศุลกากรเก็บรักษาไม้ไว้จนกว่าคดีอาญาจะถึงที่สุด

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม และเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ที่ 3665 – 3666/2562 พิพากษาแก้ โดยให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง แต่มิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับไม้ของกลางแต่อย่างใด เป็นเหตุให้มีบุคคล/นิติบุคคล ยื่นหนังสือต่อกรมศุลกากรเพื่ออ้างสิทธิในการดำเนินการเกี่ยวกับไม้ของกลางดังกล่าว รวม 7 ราย ดังนี้

1. นายสอนแก้ว สิทธิไช อ้างว่า เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนวิสาหกิจส่วนบุคคล โรงเลื่อยพงสะหวัน

2. นายคำสะไหว พมมะจัน อ้างว่า ได้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการบริษัท วิสาหกิจส่วนบุคคล พงสะหวัน อุตสาหกรรมไม้ จำกัด

3. บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จำกัด ผู้ดำเนินการพิธีการศุลกากรผ่านแดน

4. นายสมสัก แก้วผาลี อ้างว่า เป็นผู้รับมอบอำนาจจาก สปป.ลาว

5. บจก. ที่ปรึกษากฎหมายยูเนี่ยนลอว์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก นายคำสะไหวฯ

6. นางสาวิตรี นันท์ภิวัฒน์ อ้างว่า เป็นผู้รับมอบอำนาจจากวิสาหกิจส่วนบุคคลพงสะหวันอุตสาหกรรมไม้

7. นายสุเทพ อุ่นศรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก นางอรัญญา อุปัติสิงห์ ผู้ประกอบกิจการนำเข้าไม้จากลาว

กรมศุลกากร พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้การส่งมอบไม้พะยูงของกลางคืนให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงและเป็นไปด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตรงตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลของอนุสัญญาบาร์เซโลนาที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามโดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้กับประเทศที่ไม่มีพรมแดนออกสู่ทะเล

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ความตกลงฯ กำหนดให้ ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าผ่านแดนและผู้ประกอบการขนส่งสินค้าผ่านแดนต้องได้รับอนุญาตและรับรองจากรัฐบาลของภาคีคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 ราย และบริษัทเอกชนจำนวน 3 ราย เป็นผู้รับจัดการขนส่งสินค้าผ่านแดนไปสู่ สปป.ลาว โดยคณะรัฐมนตรี ลงมติให้ บริษัท ที.แอล.เอ็นเตอร์ไพร์ส (1991) จำกัด เป็นผู้รับจัดการขนส่งสินค้าผ่านแดน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2534 อีกทั้ง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการผ่านแดนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 รวมทั้งอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับมีบัญชาของนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้

1. หนังสือสำนักเลขานายกรัฐมนตรี ที่ นร 0402/1962 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560สรุปได้ว่า กรณีนี้ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแล้วว่า หากผิด ก็ยึดได้เลย หากคืนก็คืนให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม่คืนให้กับบริษัทฯ

2. หนังสือสำนักเลขานายกรัฐมนตรี ที่ นร 0402/2039 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564สรุปได้ว่ามอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อแจ้งความคืบหน้าของคดีให้นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทราบ พร้อมขอทราบแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจากนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

กรมศุลกากรจึงมีหนังสือถึงกรมเอเชียตะวันออกเพื่อขอความอนุเคราะห์กรมเอเชียตะวันออกแจ้งไปยังสถานทูตลาวในการประสานรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารการผ่านแดนและเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง รวมถึงดำเนินการรับมอบไม้พะยูงของกลางและปฏิบัติพิธีการศุลกากรให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่อไป

นายชูชัย อุดมโภชน์ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของเนื้อหาข่าวรายการบรรจงชงข่าว โดยนายบรรจง ชีวมงคลกานต์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 เวลา 17.00 น. ที่มีข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง กรมศุลกากรจึงขอชี้แจงในแต่ละประเด็น ดังนี้

1. กรณีที่นายคำสะไหวกล่าวอ้างว่า สงสัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่กล่าวถึงเบื้องต้นว่าทำไมต้องทำหนังสือคัดค้านและทำไมถึงไม่เห็นดีด้วย ในเมื่อศาลพิพากษาฎีกาบอกชัดเจนเรื่องเอกสารต่าง ๆ ที่เขาถาม และ บก.ปทส. เขาก็ตรวจสอบถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย มีคณะกรรมการและก็ให้คืนแล้ว เขาก็ไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ข้อเท็จจริงคือ ศาลยกฟ้องในคดีปลอมแปลงเอกสาร โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม และศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง แต่มิได้มีคำสั่งคืนไม้ของกลางแต่อย่างใด

2. กรณีที่นายคำสะไหวกล่าวอ้างว่า กรมศุลกากรก็มีหนังสือไปที่ ทสจ. ที่มุกดาหาร ก็ถึงได้เกิดเรื่องเมื่อวันที่ 24 – 25 ที่ผ่านมามีการเรียกรับเงิน ประเด็นนี้ กรมศุลกากร ขอเรียนว่า กรมศุลกากรและหน่วยงานในสังกัดไม่เคยมีหนังสือถึงสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดมุกดาหาร แต่อย่างใด กรณีเป็นการกล่าวเท็จทั้งสิ้น

3. กรณีนายคำสะไหวกล่าวอ้างว่า ปริมาณไม้ จำนวนไม้ก็ลดหายไป กรมศุลกากร ขอเรียนว่า ไม้ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง ยืนยันว่า ยังอยู่ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรลงพื้นที่ตรวจสอบ เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2563

4. กรณีนายคำสะไหวขอเข้าตรวจสอบดูไม้พะยูงของกลาง โดยอ้างว่า มีคำสั่งจากที่ปรึกษาฯ กรมศุลกากร ห้ามเข้าไปดูไม้ ห้ามใครเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องไม้ โดยเฉพาะชื่อผมที่ระบุในการรับไม้ ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว กรมศุลกากรขอเรียนว่า ไม้พะยูงของกลางดังกล่าวมีผู้โต้แย้งสิทธิถึง 7 ราย ยังไม่ทราบว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของที่แท้จริง การขอเข้าดูและตรวจวัดไม้ จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังไม่ทราบว่า ไม้ของกลางเป็นของผู้ใด ดังนั้น ควรรอความชัดเจน หากมีผู้ไม่สุจริตมาตรวจสอบดูไม้และถ่ายรูปนำไปเสนอขายที่ต่างประเทศ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้ว

Written By
More from pp
“อันวาร์” แนะรัฐ! ต้องสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่น “ทำสิ่งที่ถูกให้เป็นถูก สิ่งผิดให้เป็นผิด”
27 ต.ค. 2563 นายอันวาร์ สาและ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า
Read More
0 replies on “กรมศุลกากร ชี้แจงประเด็นไม้พะยูงของกลาง”