ผักกาดหอม
ถามมาตอบไป
วานนี้ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติพิจารณาคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่ง (๒)
คือ…อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา
กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ (๑)
คือ…รัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า…
…รัฐสภามีหน้าที่ และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง…
หมายความว่าอะไร?
ก็แปลตามตัว ส.ส.และ ส.ว.มีอำนาจและหน้าที่ เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
ฉบับใหม่คืออะไร?
คือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ที่มีผลให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
และศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยเพิ่มเติม
การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องลงประชามติ ๒ ครั้ง
ใช้งบประมาณแผ่นดินในการทำประชามติช่วงไวรัสโควิดระบาด คร่าวๆ ก็ประมาณ ๔-๕ พันล้านบาทต่อครั้ง
ทำ ๒ ครั้งก็ตกหมื่นล้านบาท
ครั้งแรกต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
ถ้าประชาชนบอกว่า ไม่ได้ ก็แก้ไขทั้งฉบับไม่ได้
ถ้าประชาชนเสียงส่วนใหญ่บอกว่าเชิญเลย หลังยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว ต้องทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง
แต่ระหว่างนั้นก็ไม่ง่าย
กระบวนการหลังจากนี้คืออะไร?
วันที่ ๑๗-๑๘ มีนาคมนี้ สภาเปิดประชุมสมัยวิสามัญ
มีคำถามว่า แล้วจะลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ ๓ ที่ค้างอยู่ในรัฐสภาได้หรือไม่ หรือร่างรัฐธรรมนูญตกไปแล้วตามคำวินิจฉัยของศาล
ค่อยๆ อ่าน
ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปนะครับ
(๘) ในมาตรา ๒๕๖ ของรัฐธรรมนูญ อธิบายประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจน
…ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์ หรือหมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (๗) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (๗) ต่อไป….
นั่นก็คือหากแก้หมวด ๑๕ ซึ่งก็คือการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องทำประชามติ และต้องทำก่อน (๗)
ย้อนกลับไป (๗)
…(๗) บัญญัติว่า เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (๖) แล้วให้รอไว้สิบห้าวันแล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นําความในมาตรา ๘๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม….
ทีนี้มาดู (๖)
…การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สาม ขั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน
และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา……
สรุปสั้นๆ คือ รัฐธรรมนูญบอกว่า หลังโหวตวาระที่ ๓ แล้ว ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติ ก่อนจะขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งไปไกลถึงขั้นลงประชามติ
จุดพีกสุดของเรื่องอยู่ที่การโหวตวาระที่ ๓ ซึ่งก็คือ (๖) ข้างต้น
สรุป (๖) ให้เข้าใจง่ายดังนี้….
วาระที่สามซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย นอกจากต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ ๓๗๖ เสียงแล้ว
ในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของจำนวน ส.ว. คือ ๘๔ คน
เท่านั้นยังไม่พอ
ยังต้องมีเสียง ส.ส.จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ หรือ ส.ส.ฝ่ายค้าน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน
แต่…ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถ้าเสียง ส.ว.ไม่ถึง ๘๔ คน ร่างรัฐธรรมนูญก็ตกไปทันที
ไม่ผ่านวาระที่ ๓
ไม่ต้องไปพูดเรื่องลงประชามติ เรื่องตั้ง ส.ส.ร.ให้เจ็บคออีกต่อไป
แล้วท่าทีของ ส.ว.ก่อนหน้านี้ต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเช่นไร?
เกือบ ๑๐๐% ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ข้อกังวลของ ส.ว.คือ เกรงว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไปรื้อหมวดพระมหากษัตริย์
พรรคฝ่ายค้านบอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ เพราะถูกบังคับด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๕ ว่า
…การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้…
มันก็ใช่
แต่อ่านให้ดี มาตรา ๒๕๕ ห้ามเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเท่านั้น ไม่ได้เขียนว่า ห้ามรื้อหมวด ๒ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
ไม่ว่าจะเป็นพระราชอำนาจ
หรือแม้กระทั่งการสืบสันตติวงศ์
ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังม็อบ ๓ นิ้ว ยืนกรานจะปฏิรูปสถาบัน
ธนาธร-ปิยบุตร แสดงท่าทีในหลายเวทีว่า ต้องการลดทอนพระราชอำนาจลง อ้างว่าทำเพื่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ฉะนั้น ฟันเฟิร์มวันที่ ๑๗-๑๘ มีนาคมนี้ ร่างรัฐธรรมนูญถูกตีตก
เพราะ ส.ว.เห็นว่านี่คือภัยคุกคาม การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข.