เปลว สีเงิน
กฎหมายดิ้นไม่ได้ แต่คนดิ้นได้
ฉะนั้น ไม่แปลก
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ประเด็นรัฐสภา (สส.-สว.) มีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสสร.เขียนใหม่ทั้งฉบับใช้แทนฉบับปัจจุบัน ทำได้หรือไม่?
เมื่อวาน (๑๑ มีค.๖๔) ด้วยมติเสียงข้างมาก ศาลฯ มีคำวินิจฉัย ว่า
๑.รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
๒.โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และ
๓.เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
สิ้นเสียงวินิจฉัย เสียงจาระไนตามมาทั้ง ๒ ด้านทันที!
ด้านหนึ่งบอก แบบนี้” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่คารัฐสภาก็ตกไป ไม่ต้องโหวตวาระ ๓ ในวันที่ ๑๗ มีนา.แล้ว
อีกด้านบอก “ยังไม่ตก” ๑๗ มีนา.โหวตได้ แล้วค่อยไปทำประชามติ
ก็อีกหลายแนวเห็น บางคนบอก ศาลฯตีความออกมาอย่างนี้…งง
“มากหมอ-มากความ” อย่างนั้นจริงๆ แต่ในความเห็นผม ถ้ามีหลักยึด จะไม่งง
พูดกันตรงๆ ประเด็นนี้ ไม่ต้องตีความ เพราะบัญญัติไว้โต้งๆในรัฐธรรมนูญ หมวด ๑๕ ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖(๘)
เพราะอยากจะเอากัน จึงทำเป็นตาบอด-ตาใส มองไม่เห็น(๘) ที่กำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไว้
หรือเห็น …
แต่เพราะสมประโยชน์ด้วยกัน ก็ขยิบตากัน หวังใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาลากเอากันให้สำเร็จ
คือถ้าไม่มีใครไปร้องให้ศาลฯวินิจฉัยถึงความชอบตามรัฐธรรมนูญ “วาระ ๓” สส.ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล มั่นใจว่าเสียงพวกเขา ลากฉลุยแน่
ถ้าติดขัด เพราะเสียงสว.ไม่เอาด้วย ก็จะได้อาศัยจุดนี้เป็นเงื่อนไขทางการเมืองว่า…เห็นมั้ย เพราะสว. “คสช.ตั้ง” รับใบสั่งรัฐบาลมาขวาง
ก็เป็นประเด็นให้ ๓ นิ้วลากเอาไปละเลงต่อในถนนได้อีก!
แต่ที่ต้องหน้าคะมำ เพราะถูกสส.ไพบูลย์ นิติตะวัน กับสว.สมชาย แสวงการ “ยื่นขัดขา” ยื่นให้ศาลฯ วินิจฉัย
พอเข้าใจ “ความเบื้องตน” กันแล้วนะ
ครับ…..
ทีนี้ มาสรุปประเด็นจากคำวินิจฉัยแบบ “สั้น-กระชับ” อีกที
“รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญจัดทำใหม่ทั้งฉบับได้”
แต่การจัดทำนั้น ต้องผ่าน ๒ ขั้นตอน
ขั้นตอนแรก
“ก่อนจัดทำใหม่ทั้งฉบับ” ต้องไปทำประชามติ คือถามประชาชนก่อนว่า “ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มั้ย”?
ขั้นตอนที่สอง
เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องทำประชามติอีกครั้ง
ให้ประชาชนออกความเห็นว่า “เห็นชอบกับร่างฯ ฉบับใหม่นี้มั้ย”?
คือ ต้องทำประชามติ ๒ ครั้ง ก่อนร่างฯ กับหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ
จากนั้น ถึงจะเข้าขั้นตอน “รัฐสภาปลุกเสก”
ถามว่า แล้วไหนล่ะ หลักที่ว่ามีให้ยึด?
ก็ระบุบ่งไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด ๑๕ มาตรา ๒๕๖ (๘) ชัดเจน
มาตรา ๒๕๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทำได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธิการ ดังต่อไปนี้
(๘) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม
-หมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์
-หรือหมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
-หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
-หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ
-หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้
ก่อนดำเนินการตาม(๗)…..
ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (๗) ต่อไป
ครับ หมายความว่า……..
ที่รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ ตั้งสสร.ไปเขียนใหม่ทั้งฉบับอย่างที่ทราบ
ทำได้ กฏหมายไม่ห้าม แม้กระทั่ง หมวด ๑ หมวด ๒ ก็แก้ได้
แต่….
ต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ตามที่ผมแยก หรือ..หรือ..ให้เห็นข้อๆ นั่นแหละ
ที่แก้กัน แม้ไม่แตะหมวด ๑ หมวด ๒ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ต้องทำประชามติก่อน
แต่ไปแตะ คือไปแก้หมวด ๑๕ ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันจึงเข้าหลักเกณฑ์พอดี
ต้อง “ทำประชามติ” ก่อน ทั้งก่อนร่างฯ และหลังร่างฯ!
เข้าใจกันแล้วใช่มั้ย….
ว่าทำไมศาลฯจึงมีวินิจฉัยให้ทำประชามติถึง ๒ ครั้ง ซึ่งไม่ต้องตีความเลย เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญระบุชัด
ต้องยอมรับว่า “อาจารย์มีชัย” เก๋าจริงๆ มองทะลุเกม
จึงวางกับดักพวกอยากแก้เพื่อ “ฆ่า” กฎหมายลูกอีก ๑๐ ฉบับ ที่เป็นยันต์ปิดฝาหม้อ “ขังวิญญานสัมภเวสี” ขี้โกงถ่วงน้ำไว้ ไม่ให้กลับมาผุด-มาเกิด!
อาจารย์มีชัย “อ่านขาด” ล่วงหน้า จึงวางกับดักไว้ ซึ่งได้ผลชงัด
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านรัฐสภาวาระ ๒ จ่อ วาระ ๓ เขาแก้ ๒ ข้อ
ข้อแรก แก้มาตรา ๒๕๖ เรื่องวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ข้อนี้ แก้ได้เลย ไม่เข้าหลักเกณฑ์ต้องทำประชามติ
แต่ข้อที่ ๒ แก้ไขเพิ่มหมวด ๑๕/๑ เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ตรงกระบาลเป๊ะ!
ทำให้ร่างฯ เข้าหลักเกณฑ์ ต้องทำประชามติทั้งก่อนและหลังร่างฯ ตาม(๘)ของมาตรา ๒๕๖
ก็พยายามลำดับประเด็นให้เข้าใจต่อเนื่องที่สุด น่าจะหายงงนะ
คือ หมดสงสัย ว่า ๑๗ มีนา.วาระ ๓ ยังจะโหวตกันหรือไม่?
โหวตหวังเป่าตูดงั้นรึ…มันฟื้นไม่ได้หรอก
เพราะร่างฯ นั้น ไม่ทำตามหลักเกณฑ์ตั้งแต่แรกไป เมื่อผิดแต่ต้น ทั้งกลางและปลาย มันก็ผิด ร่างที่คารัฐสภาจึงถือว่า “แท้งนอกมดลูก” ไปโดยปริยาย
ในเมื่อศาลฯ มีวินิจฉัยชัด….
รัฐสภา “จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้”
อยากจะแก้ ก็ต้องกลับไปนับ ๑ ทำประชามติ “ถามประชาชน” ก่อนว่า ต้องการมีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่มั้ย?
ถ้าเสียงข้างมากบอก “ต้องการ”
ก็เอาเลย รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชน อะไรที่บอกให้ทำได้ ทำเลย ที่ไม่ได้บอกให้ทำ ก็อย่าไปทำ
มันมีหลัก-มีเกณฑ์อยู่ ฉะนั้น อยากมีสสร.เขียนใหม่ทั้งฉบับ ก็ไม่ยาก
เก็บร่างที่ผ่านรัฐสภาไว้ก่อน แล้วไปทำประชามติ ถามประชาชนว่า ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มั้ย?
ถ้าผลออกมา “อยาก”
ก็เอาร่างฯ ในดวงใจ ที่ให้ตั้งสสร.เขียนใหม่นั้น ไปทำประชามติ ถามชาวบ้านอีกรอบว่า อย่างนี้ โอเค.มั้ย?
ถ้า โอเค.ก็เข้าขั้นตอนพิธีกรรมรัฐสภา จากนั้น นำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้
บอกแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้หนังเหนียว ไม่งั้น คนร่างจะชื่อ “มีชัย” ได้หรือ?!