ผักกาดหอม
น่าจะมีปัญหา….
ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน มีบางสิ่งซ่อนอยู่ และอาจก่อปัญหาเกิดความขัดแย้งในสภาฯ
เป็นเชื้อไฟลามไปนอกสภาฯ
จับตาดูกันดีๆ นี่อาจเป็นยุทธวิธีร่วมกันตี ทั้งจากในและนอกสภาฯ
เป้าหมายอาจไม่ใช่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์!
ย้อนไปดูญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจกันอีกครั้ง
เหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายค้านยกมาเพื่อซักฟอกรัฐบาลคือ….
“….ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน
นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน
แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง….”
ไม่บ่อยที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกเรื่องความจงรักภักดีมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เมื่อยกมาแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น?
มีรัฐบาลในอดีตเช่นรัฐบาลไทยรักไทย ของทักษิณ ชินวัตร ถูกโจมตีเรื่องความจงรักภักดีมากที่สุด
และขณะที่ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แสดงพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นถึงความไม่จงรักภักดีมากที่สุด
ย้อนรอยไปดูครับ
เริ่มที่ “ทักษิณ” เป็นประธานทำบุญประเทศในวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๘ เมื่อกิจกรรมดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ เกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่าเป็นการกระทำที่บังควรหรือไม่
เพราะ “ทักษิณ” แต่งกายไม่สุภาพ
ปกติแล้วข้าราชการหรือนักการเมืองต้องใส่ชุดปกติขาว
หนำซ้ำยังนั่งล้ำหน้าผู้ร่วมงานคนอื่นๆ มีพรมแดงรองพื้น มีเจ้าหน้าที่มาคุกเข่าให้ ขณะที่ “ทักษิณ” กรวดน้ำ
“ทักษิณ” ยังพูดจาสุ่มเสี่ยง จาบจ้วงเบื้องสูงอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ๒๕๔๘ ในงาน “นายกฯ พบแท็กซี่” ที่อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก โดยมีการถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์ช่อง ๑๑
ช่วงหนึ่ง “ทักษิณ” กล่าวว่า…..
“…บางช่วงนี่นะ ให้คนนั่งแท็กซี่ บอกว่าเนี่ยผมกำลังเหลิงจะเป็นประธานาธิบดี ปัดโธ่! เป็นแค่นี้เหนื่อยจะตายห่าอยู่แล้ว ทุกวันนี้อยู่ด้วยจิตรับผิดชอบ แล้วเอะอะอะไรก็ แหม! หาว่าผมไม่จงรักภักดี
ปัดโธ่! ถ้านายกฯ ไม่จงรักภักดี แล้วผีที่ไหนจะจงรักภักดี”
ถัดมาวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ “ทักษิณ” แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวประกาศผ่านรายการวิทยุ “นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน” ในลักษณะจาบจ้วง
พูดในทำนองที่ว่าคนที่จะสามารถให้ตนลาออกได้มีคนเดียวเท่านั้น คือ พระเจ้าอยู่หัว ถ้าพระเจ้าอยู่หัวกระซิบให้ตนลาออก จะลาออกทันที
การกระทำดังกล่าวของนายทักษิณไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ควรดึงพระองค์มาสู่เรื่องการเมือง ช่วงหนึ่งระบุว่า..
“คนที่จะให้ผมออกจากตำแหน่งนายกฯ ได้ ไม่ต้องหลายคนเลย คนเดียวให้ออกได้เลย นั่นคือพระเจ้าอยู่หัว ถ้าพระเจ้าอยู่หัวกระซิบผม รับสั่งคำเดียว ทักษิณออกเถอะ รับรองกราบพระบาทออกแน่นอน”
ถัดจากนั้นวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ “ทักษิณ” พูดถึง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”
เป็นการพูดระหว่างประชุมหัวหน้าส่วนราชการทั้งระดับปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้ว่าราชการจังหวัดกว่า ๕๐๐ คน
การเรียกประชุมในครั้งนั้น มีขึ้นหลังจากอัยการมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ ๕ พรรคการเมือง รวมทั้งพรรคไทยรักไทย จากกรณีจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
“ความวุ่นวายมันเกิดจากหลายอย่าง อย่างหนึ่งเนี่ย เมื่อใด เป็นทฤษฎีบริหารเลยนะ เมื่อใดองค์กรตามปกติถูกองค์กรที่นอกระบบครอบงำหรือมีอิทธิพลมากกว่าองค์กรปกตินั้น วุ่นวาย
หรือถ้าจะแปลเป็นไทยชัดๆ ก็คือ วันนี้องค์กรนอกรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ในรัฐธรรมนูญ คือบุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป”
นั่นคือข่าวที่เกิดขึ้นในอดีต
แต่ “ทักษิณ” รอดจากการซักฟอก เพราะฝ่ายค้านมีไม่เพียงพอที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ต้องการให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง
สุดท้ายกลายเป็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสร้างเผด็จการรัฐสภาขึ้นมา
ฉะนั้นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยุคทักษิณ คนที่ถูกอภิปรายคือตัวรัฐมนตรีเท่านั้น และญัตติให้เหตุผลเรื่องโกงเป็นหลัก
ยกตัวอย่าง การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ฝ่ายค้านขณะนั้นให้เหตุผลว่า
“รัฐมนตรีดังกล่าวบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา การปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายไม่มีความถูกต้อง เป็นธรรม
ใช้กฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต จงใจบิดเบือนการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
ปล่อยให้มีการกักตุนสินค้า การผูกขาดโดยเอกชน ไม่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม แทรกแซงการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่ส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับต่างประเทศ”
มาครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย ทายาทของพรรคไทยรักไทย เปิดอภิปรายรัฐบาลประยุทธ์ ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเรียกว่ารัฐบาลขวาจัด ในประเด็นความไม่จงรักภักดี
วันนี้การเมืองยังคงแบ่งเป็น ๒ ขั้วหลัก
ขั้วหนึ่งแสดงความจงรักภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน
อีกขั้วต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และเจตนาในการล้มล้างสถาบันฯ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นคือ….ความรู้สึกของคนทั่วไปนั้น นักการเมืองที่มีปัญหาเรื่องความจงรักภักดี นอกจาก “ทักษิณ” แล้ว
พรรคก้าวไกล โดยการบงการของคณะก้าวหน้า คือกลุ่มที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมแล้ว
ฉะนั้นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ด้วยข้อหา
“….ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน
นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน
แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง….”
แท้จริงแล้วต้องการพูดเรื่องอะไรกันแน่
ในขณะที่ม็อบ ๓ นิ้วเตรียมชุมนุมต่อต้านสถาบันฯ อีกครั้ง และย้ำในหมู่พวกเดียวกันเองว่า จะเข้มข้นกว่าเดิม
อีกด้านหนึ่ง แกนนำม็อบถูกดำเนินคดี ม.๑๑๒ กันถ้วนหน้า
หันไปที่ “สามสัส” แต่งเรื่องสร้างกระแสโยงสถาบันฯ ไม่เว้นวัน
ฉะนั้นในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ภาพที่เห็น ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะจากพรรคก้าวไกล อภิปรายเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา
ส่วนนอกสภาฯ ม็อบ ๓ นิ้วปักหลักรอ
ภาพก็จะออกมาแนวๆ นี้
ที่แน่ๆ คือ กลุ่มล้มล้างสถาบันฯ ขยับแน่นอน.