กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยกรณีผู้ป่วยโควิด 19 ปกปิดข้อมูลในไทม์ไลน์ ได้ประสานแจ้งไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการปกปิดข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้โรคโควิด 19 แพร่ระบาดออกไปในวงกว้างและทำให้การป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ล่าช้า ไม่ทันการณ์ได้
วันนี้ (28 มกราคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เชื่อมโยงกับงานฉลองวันเกิดของดีเจดัง ซึ่งมีบางรายปกปิดข้อมูลในไทม์ไลน์ นั้น
กรมควบคุมโรค ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ลงวันที่ 27 มกราคม 2564 เนื่องจากพบว่ามีบุคคลอื่นซึ่งมีประวัติใกล้ชิดกับดีเจดังติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นอีก
โดยจากข้อมูลการเดินทางของบุคคลดังกล่าวและบุคคลที่เกี่ยวข้องมีการให้ข้อมูลบางประการที่ไม่สอดคล้องกัน รวมถึงมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลบางส่วนต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้โรคโควิด 19 แพร่ระบาดไปในวงกว้างและทำให้การป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ล่าช้าและไม่ทันการณ์ได้
จากกรณีดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.กรณีที่บุคคลให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน หรือมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลซึ่งควรต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท รวมถึงอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และ 2.กรณีสถานที่ซึ่งใช้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคและไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด รวมถึงกรณีบุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด ซึ่งเป็นมาตรการตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ที่ 1/2564 ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงนี้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนอย่าปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลล่าช้า เพราะจะส่งผลให้การควบคุมโรคทำได้ช้า ไม่ทันการณ์ และเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นเพิ่มได้อีก
และขอให้ทุกคนเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเอง โดยสวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เช็กชื่อด้วย “ไทยชนะ” และดาวน์โหลด “หมอชนะ” เพื่อช่วยให้การสอบสวนควบคุมโรคและติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422