อ้อย “ฤาจะหวานเท่า” ไทย-จีน

เพราะประเมินค่า “อาเซียน” ต่ำ

“พญาอินทรี”อย่างสหรัฐฯ
จึงกลายเป็น “กระจอก” ในฝูงหงส์ของวงประชุม “อาเซียนซัมมิต” ที่จบไปวานซืน!

ไม่สนใจเรียนรู้วัฒนธรรมเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน ก็เรื่องหนึ่ง
แต่การให้เกียรติต่อกัน เป็นมรรยาทสังคมอันอารยชนพึงตระหนักได้มิใช่หรือ?

อาเซียน ซัมมิต ชื่อก็บอก เป็นการเชิญระดับผู้นำแต่ละประเทศมาประชุมกัน

ผู้นำ ๑๐ ประเทศอาเซียน มากันครบ
ประเทศคู่เจรจา ประเทศรับเชิญ ต่างก็ให้เกียรติ ส่งระดับ “ผู้นำ” ท้ังนั้น มาร่วม
มีแต่สหรัฐฯ ประเทศเดียว ประธานาธิบดี, รองประธานาธิบดี ไม่มา
ส่งระดับ “ที่ปรึกษา” มาแทน!
เมื่อไม่ให้เกียรติเขา แล้วเราจะเอาเกียรติจากใครเล่า เรื่องนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ควรขอโทษ ๑๐ ผู้นำอาเซียน มากกว่าแสดงความไม่พอใจ

กรณี ๗ ผู้นำอาเซียนเมินร่วมวง ส่งระดับรัฐมนตรีไปร่วมประชุม “อาเซียน-สหรัฐ” แทน
ถ้าสหรัฐฯ ต้องการกลับเข้ามามีอิทธิพลในเอเชีย-แปซิฟิก ขืนยะโสและหยาบทางวัฒนธรรมสังคมเช่นนี้
กับสังคมโลกที่เปลี่ยนไป ……..
มัน “ยาก” แล้ว สำหรับสหรัฐฯ!
ยิ่งแนวคิด “อำนาจเป็นใหญ่” ทำอย่างไรก็ได้ เหมือนครึ่งศตวรรษที่ผ่านในภูมิภาคนี้ อดีตจะไม่ย้อนสู่ปัจจุบันอีกแล้ว

มองทางย้อนกลับ….
อาเซียนวันนี้ ในเกมการเมืองโลกที่ต้องร่วมกันเล่น นับวันจะผนึกเนื้อเป็นหนึ่งเดียวได้น่าสะพรึง
“ชาติใหญ่” ถ้าจะเล่นไพ่อาเซียน ต้องศึกษาและประเมินใหม่แล้ว!
สำหรับไทย เรื่องจีเอสพีน่ะ มันแค่ “ลูกอม” สำหรับเด็ก ไทยโตเกินจะฟันหลอไปแล้ว

“ไทย-สหรัฐฯ” ตัดกันไม่ขาด ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน มันยังมีเรื่องใหญ่กว่าไม้จิ้มฟัน ที่ต้องสัมพันธ์กัน
อย่าเอาเรื่องเล็ก ไปทำลายเรื่องใหญ่ อดทน หนักแน่นเข้าไว้ แล้วทุกอย่างจะดีเอง

จีน ด้วยเป้าหมาย Belt and Road ก็ต้องมา

สหรัฐฯ ด้วยเป้าหมาย Indo-Pacific ก็ต้องมา

เมื่อไทยเป็น “ศูนย์เล็ง” ที่แต่ละฝ่ายต้องมา ประเทศอังคาพยพน้อย-ใหญ่ ต้องไหลมาด้วยในฐานะ “ประโยชน์ร่วม”

ฉะนั้น พวกเราคนไทยวันนี้ รู้ตัว-รู้ตาม ไม่พอ
ต้อง “รู้ตื่น” ด้วย
รู้ว่า ขณะที่ จีน ล้อมโลกทางน้ำ ด้วย “วันเบลท์” ตามเส้นทางสายไหมทางทะเลในอดีต เข้ามาในมหาสมุทรอินเดียนี้

สหรัฐฯ มีหรือจะยอม!?
จึงปัดฝุ่น “อินโด-แปซิฟิก” ฉี่สำแดงอาณาเขต จากชายฝั่งตะวันตกอินเดีย-แปซิฟิก เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก
เขตอำนาจข้า…ใครอย่าแหยม!

นี่…๒ มหาอำนาจ มีความเป็นไปได้ ที่จะใช้มหาสมุทรอินเดีย เป็นที่ประลองอำนาจกัน
มันก็นัวเนียแถวบ้านเรานี่แหละ!
คุยเรื่องพวกนี้ ถ้าจะให้หลับตาเห็นภาพ ต้องดู “แผนที่โลก” ประกอบ ไปหาซื้อไว้คนละเล่มนะ

เนี่ย….
สหรัฐเข้ามวยผิดไปนิด คะแนนอาเซียนตอนนี้ จึงเทไปที่จีน
แต่ในบรรดาประเทศเบอร์ใหญ่ นอกจาก “จีน-สหรัฐ-รัสเซีย” แล้ว ผมว่า “ญี่ปุ่น” เดินเกมการเมืองโลกเก่งที่สุด

ไทย ว่าเก่งในการบริหารเสน่ห์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ แล้ว ยังสู้ญี่ปุ่นไม่ได้

“ไทย-วันทอง” ยังแค่ ๒ ใจ แต่ “ญี่ปุ่น-วันทอง” ร้อยใจ เลยแหละ!

ญี่ปุ่น นั้น จะหนัก-จะเบา ไปทางไหนไม่ได้เลย ในความที่เป็นลูกกระเป๋งสหรัฐฯ แต่ก็ต้องไม่ขัดตา-ขัดใจจีนด้วย

ญี่ปุ่นมีศิลปะ “แกว่ง” ได้ลงตัวเสมอ
ในการคบหากับทุกเวที ญี่ปุ่นเนี่ย หวาน..นิ่ม เป็นที่รักของทุกประเทศ (ยกเว้นเกาหลีใต้ตอนนี้)
ในความยุ่งยาก “สงครามการค้า” ยุคเปลี่ยนโลก ผมว่า ญี่ปุ่นนี่แหละ จะเข้าลักษณะ
“เล็ก-ใหญ่” ญี่ปุ่น “กินเรียบ”
ไทยเรา อย่างเก่ง ในเกมโลก แค่ “กินร่วม”!

ในขณะที่ สหรัฐฯหน้าแหยกลับไป เมื่อวาน (๕ พย.๖๒) ที่หน้าบานสดชื่น ก็จะเป็นไทยกับจีนนี่แหละ

“นายหลี่ เค่อเฉียง” นายกฯ จีน เยือนไทย นายกฯ ประยุทธ์ เปิดทำเนียบต้อนรับเต็มที่

สองฝ่ายหารือกันเต็มคณะ!

คนเรานี่ สังเกตในการคบหาไม่ยาก ว่าด้วยมรรยาทหรือด้วยใจ
จึงไม่แปลกที่้ ไทยเห็น-ไทยปลื้ม, จีนเห็น-จีนปลื้ม
ผู้นำ ๒ ประเทศ โอภาปราศรัยกัน อย่างหนังจีนที่ว่า “มิต้องมากมรรยาท”

เมื่อน้ำใสใจจริงต่อกัน ไม่ว่าพูดจาอะไร มันก็มาจากใจ สิ่งที่มาจากใจ ย่อมชื่นใจ เพราะไม่มีพิษเจือ
ฟังที่นายกฯประยุทธ์กล่าวต่อมิตรซักหน่อยปะไร

“ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ในการเยือนไทยเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล
เป็นการเยือนที่เกิดขึ้นในปีที่มีความสำคัญ เป็นปีที่ไทยได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงเป็นประธานอาเซียน
ขณะที่จีน ก็เฉลิมฉลองการครบรอบ ๗๐ ปี แห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ที่ผ่านมา
ในความผันแปรของสภาวะเศรษฐกิจโลก ผมและนายกรัฐมนตรีหลี่ ได้หารือกันอย่างกว้างขวาง
ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสังคมและวัฒนธรรม
ตลอดจนสถานการณ์ในภูมิภาคและใน
ผมและท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ เห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น
โดยเฉพาะระหว่างยุทธศาสตร์และกรอบความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นแผนแม่บท ว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕(MPAC 2025) และ ACMECS เป็นต้น
กับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน ซึ่งก็คล้องกับยุทธศาสตร์  “Connecting the Connectivities” ที่ไทยเสนอ
เรายังเห็นพ้อง ที่จะเชื่อมระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)ของไทย กับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง–มาเก๊า–ฮ่องกง หรือ GBA ของจีน ผ่านโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม
สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกลไกหารือระดับสูงระหว่างกัน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ ผมได้เชิญชวนให้จีนขยายการลงทุนในไทย
ขณะเดียวกัน ก็ได้ฝากให้นายกรัฐมนตรีหลี่ ช่วยดูแลภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในจีน และดูแลเรื่องสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพารา
นอกจากนี้ ได้ย้ำความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะปรับปรุงมาตรฐานการให้ความคุ้มครองและดูแลนักท่องเที่ยว
ซึ่งจีนได้แสดงความพร้อมที่จะถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดีของจีนในเรื่องการขจัดความยากจนให้ไทย
พร้อมเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะ
เพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควัน/PM 2.5
ส่วนในด้านการเมืองและความมั่นคง
เห็นพ้องกันให้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย
การเยือนไทยของท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ฯ และการลงนามความตกลงต่าง ๆ ระหว่างทั้งสองฝ่ายเมื่อสักครู่ สะท้อนถึงพัฒนาการของความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย – จีน
ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศ ประชาชนและภูมิภาคโดยรวม

มาฟังวาจาแห่งมิตรผู้ยิ่งใหญ่ “นายหลี่ เค่อเฉียง” ที่ตอบถ้อยนายกฯ ไทยบ้าง

“ขอบคุณที่ทางการไทยให้การต้อนรับอย่างมีน้ำใจ ซึ่งวันนี้ ได้หารือกันหลายประเด็น จนประสบความสำเร็จตามที่นายกรัฐมนตรีไทยได้แจ้งให้ทุกคนทราบแล้ว
พวกเราได้บรรลุการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้านการเมือง
จีนพร้อมผลักดันไทยทุกเรื่อง…..
ไม่ว่าจะเป็นโครงการอีอีซี รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าข้าว อีคอมเมิร์ซ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งจีนมีศักยภาพในการส่งเสริมการพัฒนาของไทยเป็นอย่างมาก
โดยช่วงที่มาเยือนประเทศไทย ได้เห็นเรือพาณิชย์วิ่งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก
ทำให้คิดว่า หากทางการไทย-จีน ร่วมมือกัน จะเปรียบเสมือนเป็นเรือใหญ่ วิ่งเร็ว วิ่งไกลอย่างมั่นคง
ซึ่งในอนาคต จะต้องวิ่งให้เร็ว เหมือนเรือหางยาวอีกด้วย
ขอแสดงความยินดีกับไทยอีกครั้ง ที่ประสบความสำเร็จ ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๕
ขณะที่วานนี้ ได้มีการประชุมผู้นำ ๑๕ ประเทศ ผ่านเวที RCEP และได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน
จะเห็นได้ว่าในภูมิภาคนี้ เรามีประชากรมากที่สุด มีศักยภาพในการพัฒนามากที่สุด
และมีความพร้อมในการสร้างเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
แต่เราจะร่วมมือกันในการรักษาความมั่นคงเพื่อพัฒนาภูมิภาค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนต่อไป
ซึ่งการแสวงหาความร่วมมือในเวที RCEP ต้องใช้ความขยันหมั่นเพียรและอดทน
การเจรจาระหว่างกัน ก็เหมือนการเตะบอลเข้าประตู ซึ่งขณะนี้ บอลกำลังจะเข้าประตูแล้ว
ผมจึงได้ย้ำกับพล.อ.ประยุทธ์ไปว่า เราต้องใช้ความพยายามต่อไป ต้องผลักดันให้ลูกบอลตกลงสู่พื้น เพื่อเข้าประตูไปในเร็ววัน
และเรามั่นใจว่าปีหน้า RCEP จะประกาศข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ
และคิดว่า บอลที่เตะเข้าประตูไปแล้ว จะเปิดกว้างไปสู่ทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย
จีนยังคงแสวงหาความร่วมมือกับไทยต่อไป สร้างมิตรภาพระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เราจะเคารพบทบาทการเป็นศูนย์กลางอาเซียนของไทย
ซึ่งได้พูดไปตั้งแต่แรกแล้วว่า จีนกับไทยได้ร่วมพายเรือลำเดียวกัน ถือเป็นพี่น้องกัน มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นต่อกัน
ต่อไป เราจะมุ่งไปข้างหน้าที่มีอนาคตกว้างไกลรออยู่ โดยอาศัยหลักการที่มีความเสมอภาคต่อกัน เป็นหุ้นส่วนที่ดีต่อกัน

(พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบรับทันที)
“โอเค เราเป็นเรือใหญ่ที่ต้องวิ่งให้เร็วเหมือนเรือหางยาวต่อไป”

และพล.อ.ประยุทธ์ฝากสุภาษิตกับนายหลี่ เค่อเฉียง ว่า “มดน้อย บางครั้งก็สามารถช่วยพญาราชสีห์ และพญาคชสารได้”

ซึ่งนี่คือสุภาษิตไทยที่ขอฝากไว้ และอยากฟังสุภาษิตจีนบ้าง
นายหลี่ เค่อเฉียง ก็กล่าวว่า

“ผมได้พูดตั้งแต่ต้นแล้วว่า จีนกับไทยได้นั่งเรือลำเดียวกัน ซึ่งทั้งจีนและไทยมีความเหมือนกัน
ถ้าดูจากประชากรและสภาพทางการเมือง การต่างประเทศ ก็ตรงกัน
ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ เราจึงต้องมุ่งไปข้างหน้าเพื่อให้มีอนาคตที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้น
เราต้องอาศัยหลักการเสมอภาคต่อกัน เอื้อประโยชน์ต่อกัน เป็นหุ้นส่วนที่ดี และมีความเจริญก้าวหน้าด้วยกัน
แม่น้ำเจ้าพระยาก็สามารถเชื่อมต่อไปถึงประเทศจีนได้ ซึ่งทั้งสองประเทศก็จะเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน
(พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวรับ)
“จะเป็นเรือเหล็กหรือเรือหางยาวเราก็จะไปด้วยกัน”

ครับ….
ก็นี่แหละ ไทย-จีน “เรือเหล็ก-เรือหางยาว”
วัน-สองวัน อาจมี…..
ไทย-สหรัฐฯ “เรือรบ-เรือจรวด”!

Written By
More from plew
“สัปปายประชาสถาน”
อย่าโหน……. อย่านำเรื่องผู้ป่วยคนหนึ่งในภาวะ “โควิด-๑๙” ระบาด “เสียชีวิต”……… เพราะปอดและอวัยวะภายใน “ทำงานหนักเกิน” ไปโหมประโคม เติมสีสัน สร้างตระหนกทางข่าวสารเป็นอันขาด
Read More
0 replies on “อ้อย “ฤาจะหวานเท่า” ไทย-จีน”