ผักกาดหอม
มีประเด็นน่าสนใจ
วานนี้ (๒๖ มกราคม) ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.๓๐๔๙/๒๕๖๒
คดีนี้พนักงานอัยการคดีอาญา ๗ เป็นโจทก์ฟ้องนายจือเซง แซ่โค้ว หรือนามปากกา “สมอลล์ บัณฑิต อานียา” อายุ ๘๐ ปี
เป็น นักเขียนนิยาย แนวร่วมคนเสื้อแดง เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒
“….ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว พยานโจทก์เห็นว่าคำว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้า มาจากคำราชาศัพท์ว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ขณะที่ฝ่ายจำเลยเห็นว่าฝุ่นละอองเป็นคำทั่วไป มีความแตกต่างจากคำว่าฝ่าละออง และไม่ได้เอ่ยชื่อผู้ใด ซึ่งอาจตีความแตกต่างกัน การใช้คำพูดดูหมิ่นหรือไม่ต้องพิจารณาภาพรวม โอกาส สถานที่ เป็นการใส่ความยืนยันหรือไม่ หมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะหรือไม่
ข้อความที่จำเลยกล่าวไม่มีข้อความสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นข้อความสามัญไม่ใช่ราชาศัพท์
ประกอบกับจำเลยเบิกความเป็นคนจีน คำว่าคุณค่าแห่งความเป็นคน จำเลยต้องการสื่อให้คุณค่าความเป็นคนสูงขึ้น คำว่าฝุ่นละอองมาจากหนังสือที่จำเลยอ่านใช้คำว่าใต้เท้า ไม่ได้หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ พยานโจทก์มีหลักฐานสงสัยตามสมควรว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย พิพากษายกฟ้อง….”
คดีนี้อุทธรณ์ต่อหรือไม่ต้องจับตาดู
แต่ในเชิงวิชาการมีประเด็นให้ถกเถียง
ในอดีต จือเซง แซ่โค้ว หรือนายบัณฑิต เคยถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๑๘ จากการทำสัญลักษณ์ธงแดง
ถูกจับโดยตำรวจ สน.ชนะสงคราม แต่ได้รับการปล่อยตัว เพราะเจ้าหน้าที่เห็นว่าเขามีอาการทางจิต
ต่อมาโดนอีก ๒ คดี
คดีแรกคือ กรณีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานประชุมสัมมนาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับศาลรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นในหัวข้อ “กฎหมายพรรคการเมือง: โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง”
พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. (ขณะนั้น) แจ้งความกล่าวหาบัณฑิตว่า พูดแลกเปลี่ยนในงานเสวนาและขายเอกสารที่จัดทำขึ้นเองมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นฯ
คดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ให้จำคุก ๔ ปี รอลงอาญา ๓ ปีเนื่องจากเห็นว่าบัณฑิตมีอาการทางจิตเภท
อาการทางจิต เป็นไปตามคำเบิกความของนายแพทย์ชำนาญการจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
กล่าวโดยสรุป นายบัณฑิตมีร่องรอยความเจ็บปวด ยึดติดกับความคิดซ้ำๆ มีโอกาสก่อคดีเพิ่มอีกแต่ก็สามารถตอบโต้คำถามแบบคนทั่วไปได้
แต่สามารถต่อสู้คดีได้!
อีกคดีเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร ๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ บัณฑิตไปแสดงความเห็นที่งานเสวนาระดมความเห็นเรื่องการปฏิรูปของพรรคนวัตกรรม คดีนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลทหาร
ตุลาคม ๒๕๕๙ หลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ บัณฑิตเคยโพสต์เฟซบุ๊กว่า ถูก “ล่าแม่มด” โดยถูกด่าทอและคุกคามเอาชีวิตในโลกโซเชียลมีเดีย
จากนั้นไม่กี่วันตำรวจและทหารได้คุมตัวเขาจากห้องพักไปยัง สน.หนองค้างพลู โดยระบุว่า เขาโพสต์แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ อย่างไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกของประชาชนทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นเป็นเพียงการตักเตือนและทำข้อตกลงกับนายบัณฑิตว่าจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีกและบัณฑิตได้รับปากเจ้าหน้าที่โดยดี
นายทหารที่ดูแลพื้นที่ระบุว่า หากเขายังมีพฤติกรรมการโพสต์เช่นเดิมจะดำเนินการดำเนินคดีตามมาตรา ๑๑๒ ให้ถึงที่สุด
และสุดท้าย ๑๒ กันยายน ๒๕๕๘ มีการจัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายบัณฑิตแสดงความคิดเห็นกล่าวถ้อยคำต่อผู้เข้าร่วมเสวนาตอนหนึ่งว่า คุณค่าแห่งความเป็นคน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องสูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้าของคนบางคน
ศาลพิพากษายกฟ้องตามที่เกริ่นข้างต้น
ผมเข้าไปหาข้อมูลของ จือเซง หรือนายบัณฑิต พบประเด็นที่น่าสนใจ
เว็บไซต์ต่อต้านสถาบันพูดถึง นายบัณฑิต เยอะพอควร
เช่น….
“…ตอนนี้คุณบัณฑิต อาร์ณีญาญ์ยังขาดแคลนทุนทรัพย์สำหรับฟ้องร้องกลับคดี ม.๑๑๒ ทั้งในไทยและ UN อีกทั้งยังต้องรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคไต ฯลฯ อีกด้วย แต่ไม่ใช่โรคจิตอย่างแน่นอนเพราะคุณบัณฑิตยืนยันอย่างแข็งขันว่าเขามีสุขภาพจิตดีเกินร้อยด้วยซ้ำไป…”
“…คุณบัณฑิตยืนยันมีสุขภาพจิตดี มีหน้าที่ลุยฟ้อง UN ต่อ…”
นายบัณฑิต มีผลงานเขียนหลายสิบเล่ม
ที่เด่นน่าสนใจ อาทิ…
ทักษิณ ชินวัตร
จดหมายถึงทักษิณ
ทักษิณสู้เพื่อชาติ
บทภาพยนตร์เรื่อง คณะประชาชนปฏิวัติ
บิดาของท่าน บิดาของข้าพเจ้า
นักแสดงละครกับพระเจ้าแผ่นดิน
โดยเฉพาะเรื่องหลังหมิ่นเหม่ ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างยิ่ง
นั่นคือนายบัณฑิต ที่ถูกระบุว่า มีอาการทางจิตเภท
แต่ยืนยันกับแฟนคลับในการระดมทุนว่า สุขภาพจิตดีเกินร้อย
คำว่า “ฝุ่นละอองใต้เท้า” โดยบริบทแล้วความหมายจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง หากคนพูดมีพื้นฐานความคิดที่แตกต่างกัน
และต้องไม่ใช่ความคิดฉาบฉวย
แต่เป็นความคิดจากความเชื่อที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ครับ…คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด
หากถึงที่สุดแล้ว และเป็นบรรทัดฐานว่า “ข้อความสามัญ” ไม่ใช่ “ราชาศัพท์” อาจเกิดปัญหาใหญ่หลวงขึ้นมาในอนาคตได้
เพราะการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องใช้ราชาศัพท์นั่นเอง
มันอยู่ที่เจตนา
ว่าเล็งเห็นผลอย่างไร.