กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสภากาชาดไทย จัดสัมมนาเพื่อติดตามความคืบหน้าของการให้บริการเพร็พในประเทศไทย เพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสทรงดำรงตำแหน่ง UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Prevention for Asia and the Pacific ระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม 2562 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
วันนี้ (28 ตุลาคม 2562) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อติดตามความคืบหน้าของการให้บริการเพร็พในประเทศไทย เพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ซึ่งประเทศไทยมีประสบการณ์และพัฒนาการต่อสู้กับปัญหาเอดส์มายาวนานกว่า 30 ปี ทำให้ได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ ว่าสามารถลดการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ปรีชา กล่าวว่า เพื่อเป็นการสานต่อความสำเร็จของโครงการในพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิค ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการ “เพร็พพระองค์โสมฯ” ซึ่งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 ซึ่งมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ปีละไม่เกิน 1,000 ราย ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีปีละไม่เกิน 4,000 ราย และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศสภาวะลง ร้อยละ 90 โดยมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินมาตรการที่สำคัญ คือ ขยายและจัดชุดบริการป้องกันแบบผสมผสาน พัฒนารูปแบบบริการใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เช่น Pre-exposure prophylaxis (PrEP) หรือยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาเสริมในชุดบริการ จัดระบบบริการให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการป้องกันและดูแลรักษา รวมทั้งเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกให้แก่สังคม ในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ
ซึ่งในปี 2561-2562 กรมควบคุมโรค ได้เตรียมความพร้อมให้กับหน่วยบริการเพร็พทั่วประเทศ โดยดำเนินงาน ดังนี้ จัดทำแนวทางการจัดบริการยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีในประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2561 รวมถึงพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เตรียมระบบบริการ เชื่อมโยงระบบภายในโรงพยาบาล โดยการอบรมแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ ในการจัดบริการเพร็พ ให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยง และสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กลุ่มผู้รับบริการทราบข้อมูลและหน่วยบริการที่จัดบริการเพร็พ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
นายแพทย์ปรีชา กล่าวอีกว่า เพร็พ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันดูแลสุขภาพตนเองและคนใกล้ตัว เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อเอชไอวี เช่น มีคู่นอนหลายคน และไม่สามารถใส่ถุงยางอนามัยได้ทุกครั้ง โดยกรมควบคุมโรค มีเป้าหมายให้คนไทย สามารถเข้ารับบริการเพร็พ ได้ฟรี ในหน่วยบริการสาธารณสุข ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 21 จังหวัด 51 หน่วยบริการทั่วประเทศ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โทร 02-590-3215 หรือที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422