“นายกฯ” คาดไทยฉีดวัคซีนโควิดได้ มิ.ย.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการประชุมอัพเดทเรื่องวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ล่าสุดนั้น ที่ประชุมเห็นว่า เรื่องการฉีดวัคซีนให้กัประชาชนได้มากที่สุดจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นบริหารจัดการต้นทุนในการป้องกันและควบคุมโรคที่ถูกที่สุด ถูกกว่าการระดมตรวจหาเชื้อด้วยซ้ำ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนในภาพรวม รวมทั้งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม

ตั้งแต่ปลายปี 2563 ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 32 ล้านโด๊ส ในสหรัฐฯ ฉีดไปแล้ว ประมาณ 10.7 ล้านโด๊ส จีนกว่า 9 ล้านโด๊ส ยุโรป 3.7 ล้านโด๊ส และอังกฤษ 3.1 ล้านโด๊ส

“สำหรับประเทศไทยนั้น ต้องทำความเข้าใจว่า เราควบคุมโควิด-19 ได้อยู่ในระดับที่ดี จึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยมาก เราไม่ได้เป็นพื้นที่ระบาดรุนแรง จึงไม่ถูกเลือกให้เป็นที่ทดลองประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน เพราะไม่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงพอ เหมือนในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งบางประเทศในอาเซียนที่มีข่าวว่าได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการวัคซีนของเรา ก็ได้ติดตามการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้านโควิดมาตั้งแต่หลังการระบาดใหม่ๆ รวมทั้งได้วางแผนการจัดหาและแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้วขณะนี้

ศูนย์ผลิตวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซนส์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า จากประเทศอังกฤษ ได้เริ่มการผลิตวัคซีนมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ดีการผลิตวัคซีนแต่ละล็อตนั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ทั้งระยะเวลาในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเร่งรัดข้ามขั้นตอนได้ เพราะจะมีผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึง


หากเป็นไปตามแผน วัคซีนแอสต้าเซเนก้าล็อตแรกจะพร้อมฉีดให้ประชาชนในเดือนมิถุนายนนี้ โดยที่รัฐบาลได้สั่งจองไปแล้ว จำนวน 26 ล้านโด๊ส เพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 13 ล้านคนก่อน และได้เจรจาขอซื้อเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโด๊ส เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนให้มากขึ้น

“สิ่งที่ผมอยากเรียนให้ทุกท่านทราบ ก็คือ การที่เราเป็นฐานการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงวัคซีนที่ผลิตได้เร็วขึ้นนอกจากนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขยังได้สั่งซื้อวัคซีนของซิโนแวค ประเทศจีน จำนวน 2 ล้านโด๊ส ซึ่งจะมาถึงประเทศไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ แม้ว่าตอนนี้จะมีข่าวว่าวัคซีนซิโนแวค ที่ทดลองในบราซิล มีประสิทธิผลเพียง 50 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นก็ตาม แต่ผมก็อยากเรียนให้ทราบว่าในทางการแพทย์นั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับการทดลองว่า ฉีดที่ไหน หรือฉีดให้ใครด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีผลการทดลองวัคซีนซิโนแวค ในตุรกีและอินโดนีเซีย ซึ่งฉีดให้กับประชาชนหลากหลายกลุ่ม ในช่วงอายุต่างๆ กัน มีประสิทธิผลถึง 90% ในขณะที่บราซิลนั้น ทดลองฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จึงอาจทำให้ตัวเลขประสิทธิผลต่ำกว่าที่อื่น แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขได้สอบถามไปยังบริษัทซิโนแวคแล้ว เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนให้ได้ผลในการยับยั้งการระบาด ต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 50% ของจำนวนประชากร หรือจะให้ดีคือ 70% ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะฉีด 50% คือ 33 ล้านคน จะต้องฉีดถึง 66 ล้านโด๊ส ถ้าเริ่มฉีดเดือนมิถุนายนจนถึงปลายปีนี้ จะต้องฉีดเดือนละ 9.4 ล้านโด๊ส หรือวันละ 313,000 โด๊ส ถ้าคิดว่าวันหนึ่งฉีดได้ 12 ชั่วโมง คือชั่วโมงละ 26,000 โด๊ส

“เพราะฉะนั้น การฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดภายในสิ้นปีนี้ เป็นงานที่ท้าทายระบบสาธารณสุขทั่วโลก จากสถิติอัตราการฉีดวัคซีนในช่วงที่ผ่านมา อิสราเอลทำได้ดีที่สุดในตอนนี้ คือ 2 ล้านโด๊ส ใน 3 สัปดาห์ (หรือ 2.6 ล้านโด๊สต่อเดือน) ส่วนสหรัฐฯ ฉีดได้ 10 ล้านโด๊สในเดือนแรก อังกฤษทำได้ 2 ล้านโด๊ส เช่นกัน

ซึ่งผมได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเริ่มดำเนินการวางแผนงานการฉีดวัคชีนตั้งแต่ตอนนี้เป็นการเร่งด่วน เนื่องจากจำเป็นต้องมีการวางแผนการกระจาย การจัดส่งวัคซีน การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนต้องตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน เตรียมอุปกรณ์บุคลากร คือหมอและพยาบาล มีการลงทะเบียน การสอบถามอาการหลังฉีด ต้องจัดเตรียมสถานที่ฉีด และพักหลังการฉีด 15-30 นาที รวมทั้งการประเมินผล ไปจนถึงการติดตามให้มาฉีดโด๊สที่สอง ยังมีการเก็บข้อมูลของคนที่ฉีด และชนิดของวัคซีน”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะเห็นว่าแผนการกระจายวัคซีนจึงมีความสำคัญมาก เป็นผลที่จะทำให้การฉีดวัคซีนได้ผลมากหรือน้อย และไม่เกิดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ “แบบรวมศูนย์” เพื่อที่ว่า เมื่อได้วัคซีนมาจะได้เริ่มฉีดได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นที่สุด

สุดท้ายนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดหาวัคซีนและมีแผนฉีดวัคซีน ที่จะทำให้เกิดผลในการป้องกันการระบาดได้ โดยวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชน จะต้องได้ผลป้องกันโควิดได้ และปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เราสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เปิดประเทศได้โดยเร็วที่สุด

Written By
More from pp
“อนุชา” จับมือ “กุสุมาลวตี” หาเสียง อ.โกสุมพิสัย มหาสารคาม ชู นโยบายโคล้านครอบครัว สร้างชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนร่ำรวย เศรษฐกิจเดินหน้า
“อนุชา” จับมือ “กุสุมาลวตี” หาเสียง อ.โกสุมพิสัย มหาสารคาม ชู นโยบายโคล้านครอบครัว สร้างชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนร่ำรวย เศรษฐกิจเดินหน้า ยันทำได้จริง...
Read More
0 replies on ““นายกฯ” คาดไทยฉีดวัคซีนโควิดได้ มิ.ย.นี้”