อย่าเข้าใจผิด !! นิ่วในถุงน้ำดี ไม่สามารถใช้วิธีการสลายนิ่วได้

หลายคนอาจจะเคยได้ยินวิธีการรักษานิ่วที่เรียกว่า “การสลายนิ่ว” ซึ่งเป็นการยิงคลื่นเสียงเข้าไปที่ก้อนนิ่ว เพื่อให้นิ่วแตกเป็นก้อนเล็ก ๆ หรือแตกจนสลายไป และออกมาพร้อมกับปัสสาวะ โดยที่ไม่ต้องทำการผ่าตัดและไม่ต้องดมยาสลบ แต่รู้หรือไม่ว่าการสลายนิ่วนั้น ไม่สามารถใช้กับโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ 

นายแพทย์วีรยุทธ เอื้อวิเศษวงศ์ ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า นิ่วมีหลายประเภท ขึ้นกับลักษณะการเกิดและอวัยวะที่เกิด ซึ่งแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน นิ่วที่เราพบได้บ่อย และผู้ป่วยมักมีความสับสน คือนิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

1. นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากความไม่สมดุลขององค์ประกอบของน้ำดี มักสัมพันธ์กับภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะทำให้เกิดการตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี

2. นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ แบ่งตามตำแหน่งที่อยู่ของนิ่วได้แก่ นิ่วในไต นิ่วในท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และนิ่วในท่อปัสสาวะ เกิดจากตัวถูกละลายมีความเข้มข้นมากกว่าตัวทำละลาย จนทำให้ตกตะกอนเป็นก้อนนิ่ว

วิธีการการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก เป็นการรักษานิ่วโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นหนึ่งในวิธีการรักษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่ไม่เหมาะกับการนำมารักษานิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากหลักการของการยิงคลื่นกระแทกเข้าไปสลายนิ่ว จะทำให้ก้อนนิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ  ซึ่งข้อแม้คือนิ่วที่แตกออกต้องอยู่ในส่วนที่สามารถขับออกมาจากร่างกายได้ เช่นขับออกมาทางปัสสาวะ


ดังนั้น หากนำมาใช้ในการสลายนิ่วในถุงน้ำดี จะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากสลายไปแล้ว ก้อนนิ่วที่แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก็ไม่สามารถถูกขับออกจากถุงน้ำดีได้ และยังสามารถก่อให้เกิดอาการจากนิ่วได้เหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม การรักษาที่เป็นการรักษาเฉพาะของโรคนิ่วในถุงน้ำดี คือการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ ภาวะถุงน้ำดีอักเสบ ภาวะตาเหลือง ตัวเหลือง ภาวะท่อน้ำดีอักเสบ ภาวะตับอ่อนอักเสบ ซึ่งการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกไม่เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เนื่องจากถุงน้ำดีเป็นเพียงที่กักเก็บน้ำดีเท่านั้น เมื่อผ่าตัดออกไป น้ำดียังคงถูกผลิตมาจากตับเช่นเดิม

ปัจจุบันมีเทคโนโลยี Single Port ซึ่งเป็นการผ่าตัดส่องกล้องรูเดียว คนไข้จะมีแผลเล็กที่สะดือ เพียงตำแหน่งเดียว ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อน้อย ไม่มีรอยแผลเป็น เจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดส่องกล้องแบบดั้งเดิมเพราะจำนวนแผลจะน้อยลงกว่าการส่องกล้องปกติ 2-3 แผล ทำให้ฟื้นตัวไวมากขึ้น

นายแพทย์วีรยุทธ เอื้อวิเศษวงศ์

ศัลยแพทย์ทั่วไป

โรงพยาบาลเวชธานี

Written By
More from pp
นายกฯ เปิดและทดลองใช้สถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ณ ทำเนียบรัฐบาล เดินหน้าขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในหน่วยงานราชการ
นายกฯ เปิดและทดลองใช้สถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ณ ทำเนียบรัฐบาล เดินหน้าขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในหน่วยงานราชการ พร้อมยกระดับการเปลี่ยนผ่านยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นวาระแห่งชาติ
Read More
0 replies on “อย่าเข้าใจผิด !! นิ่วในถุงน้ำดี ไม่สามารถใช้วิธีการสลายนิ่วได้”