ล้มกระดูกสะโพกหัก! ให้เรียกรถพยาบาล อย่าเคลื่อนย้ายเอง และควรรีบผ่าตัดภายใน 12 – 24 ชั่วโมงแรก เพื่อเพิ่มโอกาสหาย ลดโอกาสนอนติดเตียง ลุกยืนได้ทันทีหลังผ่าตัดเพียง 6 ชั่วโมง
หากล้มแล้วเจ็บปวดบริเวณสะโพกจนขยับไม่ไหว ลุกไม่ได้ อย่าฝืน! เพราะนั่นอาจเป็สัญญาณบ่งบอกถึงภาวะกระดูกสะโพกหัก ซึ่งนายแพทย์เปรมเสถียร ศิริธนาพิพัฒน์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า สะโพกเป็นกระดูกส่วนที่รับน้ำหนักตัวมากที่สุด หากล้มจนกระดูกสะโพกหักจะเกิดความเจ็บปวดรุนแรงจนขยับไม่ได้ ลุกไม่ขึ้น หรือขาผิดรูป อย่าพยายามดัดหรือดึงเพื่อให้กระดูกกลับเข้าที่โดยเด็ดขาด รวมถึงไม่ควรฝืนลุกยืนและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง เพราะอาจทำให้กระดูกหักเพิ่มจนไปทำลายเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ และเสียเลือดมากขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบายขึ้นแล้วโทรเรียกรถพยาบาลมารับทันที
สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงกระดูกสะโพกหักง่ายคือ ผู้สูงอายุเนื่องจากความแข็งแรงของกระดูกลดลง ผู้ป่วยกระดูกพรุน ผู้ที่ขาดสารอาหารในกลุ่มวิตามินดีและแคลเซียม ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รับประทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือแม้แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ แพ้ภูมิตัวเอง นอกจากนี้ในกลุ่มคนที่อายุน้อยก็มีโอกาสกระดูกสะโพกหักได้จากอุบัติเหตุรุนแรง เช่น ตกจากที่สูง อุบัติจากรถจักรยานยนต์
“โดยมากเราจะพบผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีสาเหตุมาจากการล้ม เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในวัยที่หมดประจำเดือนและมีภาวะกระดูกพรุน ซึ่งกระดูกสะโพกหักในกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นการเจ็บป่วยที่รุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย จากสถิติพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตภายภายในปีแรกสูงถึงร้อยละ 35 หากไม่ได้รับการรักษาดูและที่เหมาะสม หรือไม่ได้รับการผ่าตัดภายใน 12 – 24 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ป่วยจะเสียเลือดมากขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อน แผลกดทับและติดเตียงในที่สุด” นายแพทย์เปรมเสถียรกล่าว
การรักษาผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก หากเกิดการหักที่บริเวณคอสะโพกจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดให้เร็วที่สุด หรือภายใน 12 – 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนและลดโอกาสการนอนติดเตียง สามารถลุกยืนได้ภายใน 6 – 12 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด และกลับไปวิ่ง ว่ายน้ำ ขับรถได้ใน 1 เดือน
สำหรับการลดความเสี่ยงในการเกิดสะโพกหัก ควรเริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะสารอาหารในกลุ่มวิตามินดีและแคลเซียม เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน ออกกำลังกายกลางแจ้งโดนแสงแดดบ้างอย่างสม่ำเสมอ ลดละเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์และกิจกรรมที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ส่วนบ้านที่มีผู้สูงอายุควรจัดบ้านให้เป็นระเบียบ ปรับพื้นที่ทางเดินให้เหมาะสม ไม่ลื่น และเพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ ป้องกันผู้สูงอายุสะดุดหรือลื่นล้ม นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรตรวจคัดกรองกระดูกพรุนตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการล้มและกระดูกหักง่ายได้