ไปมั้ย “วัง (ดวง) จันทร์วัลเลย์”

ผักกาดหอม

วันนี้…จะไปทัวร์ดวงจันทร์
เห็นยังกระแนะกระแหนกันไม่เลิก
ตั้งแต่เด็ก ๓ นิ้ว ครูบาอาจารย์หลายๆ ค่าย ยันผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพหลายๆ คน
และโซเชียลตัวดี….
ฟังแล้วหงุดหงิดแทน เช่น บอกว่า….
สร้างฟุตบาทให้ดีก่อน ค่อยสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์

ทำถนนพระราม ๒ ให้เสร็จก่อนดีมั้ย แล้วไปดวงจันทร์ทีหลัง

คือ…บางทีเรื่องวิธีคิดก็สำคัญสำหรับการมองปัญหาต่างๆ ของประเทศ
หากไม่รู้จักแยกแยะว่า ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วไปเหมารวมว่า ทำงานง่ายๆ ไม่ได้ ก็อย่าไปคิดทำการใหญ่

คิดแบบนี้ประเทศจะก้าวหน้าได้อย่างไร
ดูอินเดียเป็นตัวอย่าง
อินเดียส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์แล้ว แม้ลงจอดไม่สำเร็จ แต่ตอนนี้อินเดียมีองค์ความรู้แล้ว และกำลังเริ่มใหม่

อีกมุมหนึ่งของอินเดีย ยังมีคนขี้ข้างทางรถไฟกันเป็นเรื่องปกติวิสัย
ก็ไม่รู้มีคนอินเดียกระแนะกระแหนกันเองหรือเปล่าว่า ทำให้คนเลิกขี้ข้างทางรถไฟก่อน ค่อยคิดไปดวงจันทร์
แต่อินเดียส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์แล้ว

การสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์นั้น ระหว่างทางมีผลพลอยได้เยอะแยะไปหมดชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง
การไปดวงจันทร์จึงไม่ใช่การไปถึงดวงจันทร์เพียงอย่างเดียว แต่คือการพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างนักวิจัย ฯลฯ

ประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนมีสูตรการพัฒนาไม่ต่างกันนัก
พัฒนาเทคโนโลยีเอง มีงานวิจัยเอง มีนวัตกรรม นำไปต่อยอดแตกแขนง…เพียบ
กล้องโทรศัพท์มือถือ
หลอดไฟแอลอีดี
เครื่องดูดฝุ่น
หูฟังแบบไร้สาย
เมาส์
เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด
เครื่องซีทีสแกน
คือสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการพัฒนายานอวกาศ

ก่อนที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ จะบอกว่า มีแผนสร้างยานอวกาศและจะไปดวงจันทร์ในอีก ๗ ปีข้างหน้า รัฐบาลผู้เฒ่าทั้งหลายถูกเด็กๆ ดูถูกดูแคลนว่าเป็นพวกไดโนเสาร์ เต่าล้านปีแสง

แต่พอบอกว่าจะไปดวงจันทร์ ก็หาว่าเพ้อเจ้อ สติเฟื่อง ปัญญาอ่อน

เอางี้มั้ย…ใครรู้จัก “วังจันทร์วัลเลย์” บ้าง?
มีใครผ่านตา เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi บ้างหรือไม่?

ณ วินาทีนี้ EECi ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง พื้นที่กว่า ๓,๕๐๐ ไร่ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว
ตัวอาคารสำนักงานอันทันสมัยของวังจันทร์วัลเลย์สวยงามทีเดียว
แล้ว EECi คืออะไร?

ที่นี่รองรับการพัฒนาเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (ARIPOLIS) ศูนย์กลางเทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาศาสตร์ (BIOPOLIS)
ศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (SPACE KRENOVAPOLIS)

ในภาพรวม ที่นี่คือศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไปสู่ประเทศไทย ๔.๐
EECi จะประกอบไปด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม

มีห้องปฏิบัติการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน
ห้องทดลองภาคสนาม (Living Lab)
ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบชั้นนำ
โรงงานต้นแบบและโรงงานสาธิต ฯลฯ
มาโฟกัสกันที่ ศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.eeci.or.th/ เขาระบุเอาไว้ว่า
…..ในด้วยพื้นฐานของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้มแข็งของประเทศ ทำให้ไทยมีศักยภาพและมีโอกาสในการพัฒนาอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคต โดยเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน อากาศยานไร้คนขับ อวกาศ และดาวเทียม รวมไปถึงการซ่อมบำรุงอากาศยาน

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เป็นอุตสาหกรรมที่มีข้อกำหนดสูง มีการปิดกั้นผู้ประกอบการใหม่ๆ ทำให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ได้ยากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ

อีกทั้งจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ (Advance Materials Technology) เทคโนโลยีการบินและอวกาศ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิเคราะห์ทดสอบทางด้านมาตรฐานในระดับที่สูงขึ้นกว่าที่ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมไว้ในอดีต

จึงจำเป็นจะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพให้สามารถดึงดูดผู้ประกอบการที่สำคัญระดับโลกเข้ามาประกอบกิจการหรือวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย

ทั้งนี้ EECi ได้กำหนดแผนที่นำทางสำหรับเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศแล้ว ซึ่ง EECi จะทยอยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้โดยลำดับ

ตัวอย่างเช่น
เทคโนโลยีวิศวกรรมการประกอบชิ้นส่วนการบินและอวกาศ (Aerospace and Aviation System Integration)
วิศวกรรมการออกแบบอากาศไร้คนขับและอวกาศยาน (Drone/UAV System Design)

เทคโนโลยีเอไอเพื่อการบินและอวกาศ (AI for Aerospace & Aviation)
เทคโนโลยีการประยุกต์ใช้งานข้อมูลดาวเทียมแม่นยำ (GNSS Application Development)
การทดสอบการใช้งานอากาศยานไร้คนขับในสภาวะจริง (Drone/UAV Testbed-Sandbox-Living Lab)
การทดสอบและออกใบรับรอง (NQI Testing & Certification)
ศูนย์ฝึกอบรม Drone/UAV (Drone/UAV Training Center)

ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องวางแผนและเตรียมความพร้อมให้เหมาะสมทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยและพัฒนา เช่น เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีทางด้าน Data Analytics, Artificial Intelligence, Cyber Security โครงสร้างพื้นฐานในการทดสอบอากาศยาน รวมไปถึงสนามบินขนาดเล็กเพื่อการทดสอบอากาศยาน โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการทดลองและปรับปรุงกฎหมาย เช่น Regulatory Sandbox เป็นต้น


นอกจากนี้ รัฐยังต้องผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นตลาดที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันกฎหมายให้ทันกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขึ้นทะเบียนหรือจดทะเบียนประกอบธุรกิจการผลิตอากาศยานขนาดเล็กหรือนำอากาศยานขนาดเล็กไปให้บริการด้านต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับทางด้านเกษตรกรรมแม่นยำ (Precision Agriculture) การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การป้องกันสาธารณภัยหรือการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น….

เป็นไงครับ….
ดร.เอนก ปัญญาอ่อนหรือเปล่าไม่รู้
อีก ๗ ปีข้างหน้า ไทยจะส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ได้สำเร็จหรือไม่?…เราก็ยังไม่รู้
แต่ที่รู้…วันนี้เราตั้งไข่แล้ว
ใครยังคิดว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันอยู่อีกหรือเปล่า?

มันก็บังเอิญอย่างเหลือเชื่อ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๙ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕

สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร รัฐบาลเผด็จการทหารเบ็ดเสร็จ
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาและจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จัดพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมให้เข้ารวมกันอย่างมีระบบและมีระเบียบ
เป็นกลไกของภาครัฐในการกระจายการพัฒนาอุตสาหกรรมออกไปสู่ภูมิภาค
ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๒ แทนที่ ในยุคพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เทอมแรกที่มาจากคณะปฏิวัติ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ ปี ๒๕๒๕-๒๕๒๙ ได้พัฒนาบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่
ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก หรือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด”

ในยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
เมื่อครั้งอีสเทิร์นซีบอร์ดตั้งไข่ใหม่ๆ คนไทยเกือบทั้งประเทศมองไม่ออก ไม่รู้คืออะไร
แต่วันนี้เรารู้จักอีสเทิร์นซีบอร์ด ในฐานะการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ

วันนี้เรามี EEC ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นภาคต่อของอีสเทิร์นซีบอร์ด
เกิดตามมติคณะรัฐมนตรี ปี ๒๕๕๘ นั่นคือยุครัฐบาลรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ที่ต้องมี EEC เพราะเรากินบุญเก่าหมดแล้ว เป็นคำพูดที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ว่าเอาไว้

จนถึงวันนี้คนไทยก็ยังไม่รู้จัก EEC ดีนัก เช่นเดียวกับ EECi ที่คนไทยแทบไม่รู้จักเลย ไม่เบิกเนตร ก็ไม่มีทางได้รู้.

 

 

 

 

Written By
More from pp
ประชาชนที่ไปตลาดในพท.บางแค​ กทม.แนะทำ “แบบ​คัดกรอง​ COVID-19​ เบื้องต้น” ใครเสี่ยง​ จนท.จะเข้าไปดูแล
ขอให้ประชาชนที่เดินทางไปตลาดในพื้นที่เขตบางแค ได้แก่ 1. ตลาดสิริเศรษฐนนท์ (แสงฟ้าเก่า) 2. ตลาดศูนย์การค้าบางแค 3. ตลาดกิตติ 4. ตลาดภาสม 5....
Read More
0 replies on “ไปมั้ย “วัง (ดวง) จันทร์วัลเลย์””