เทคโนโลยีในการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก (ตอนที่ 1)

โดย อ.นพ.ภูวดล ฐิติวราภรณ์

หัวหน้าศูนย์ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก

โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์  

ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่ไม่ติดต่อ (Non-Communicable Disease, NCD) สูงถึง 41 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 60-70 เปอร์เซ็นต์ ของสาเหตุการตายทั้งหมดทั่วโลก โดยที่สาเหตุการตายอันดับที่ 1ของโรคในกลุ่มนี้ คือโรคหัวใจและหลอดเลือด สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน จากสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. 2561 พบว่า

ประเทศเรานั้น มีประชากรที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงเป็นอันดับ โดยสูงถึง 72 เปอร์เซ็นต์ ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุก ๆ ปี เนื่องด้วยปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ได้แก่ บุหรี่ มลภาวะฝุ่นควัน การบริโภคอาหารที่เต็มไปด้วยไขมันชนิดไม่ดี การไม่ออกกำลังกายและโรคประจำตัวเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมได้ไม่ดีพอ เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไตวาย/เสื่อม เป็นต้น

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการกระตุ้น รณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิหัวใจไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย และในขณะเดียวกันก็มีมาตรการในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการให้ผู้ป่วยเข้าถึงสถานบริการได้ครอบคลุมมากขึ้น มีการสร้างเครือข่ายและการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยในกลุ่มเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็น และการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องได้รับการผ่าตัด แต่กระนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะโรคหัวใจที่ต้องได้รับการผ่าตัด ก็ยังนับว่ายังขาดแคลนมาก

โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวในสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (ซึ่งมีโรงพยาบาล 11 แห่งในสังกัด) ที่มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างครบวงจร ทั้งการดูแลรักษาโรคหัวใจ หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการให้ยาและการจี้ไฟฟ้า การทำกายภาพหัวใจ การฉีดสีและเดินสายพาน และการผ่าตัดหัวใจ ทั้งโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โดยการทำการผ่าตัดบายพาส การผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจ การผ่าตัดเส้นเลือดแดงโป่งพองทั้งการผ่าตัดและการใส่ขดลวด การผ่าตัดหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กเบื้องต้น การใช้เครื่องพยุงหัวใจ (ExtraCorporeal Membrane Oxygenator, ECMO) เป็นต้น โดยโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ได้ดำเนินการผ่าตัดมาแล้วเป็นปีที่ 5 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยทางโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์นั้น  ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์แพทย์ ผู้มีประสบการณ์ ทั้งจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และจากโรงพยาบาลศิริราช รวมถึงทีมงานอาจารย์แพทย์หลากหลายสาขามาช่วยเหลือในกรณีที่การผ่าตัดนั้นมีความซับซ้อน ซึ่งก็ทำให้การผ่าตัดสำเร็จลุล่วงด้วยดีเสมอมา

จากสถิติการผ่าตัดหัวใจจากสมาคมศัลยแพทย์หัวใจแห่งประเทศไทยปีพ.ศ. 2561 นั้นพบว่า การผ่าตัดหัวใจบายพาส (Coronary artery bypass surgery, CABG) เป็นการผ่าตัดหัวใจที่สูงเป็นอันดับ 1  และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยเพิ่มขึ้น57 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (จาก 3,790 เป็น 5,970ราย/ปี) การผ่าตัดหัวใจนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนจินตนาการ ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยให้การผ่าตัดดีขึ้น ทั้งในแง่ของการพักฟื้นที่เร็วขึ้น แผลเล็กลง ภาวะแทรกซ้อนที่ลดน้อยลง โดยหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะเริ่มรู้ตัวประมาณ 1-2 ชั่วโมงและสามารถรับประทานอาหารได้ใน 8-12 ชั่วโมง ระยะเวลานอนโรงพยาบาลเฉลี่ยประมาณ 5-7 วันหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน หลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มตื่นรู้ตัว ลุกนั่ง ทางทีมงานกายภาพบำบัดหัวใจก็จะเข้ามาดูแล สอนการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายและหัวใจฟื้นตัวได้เร็วที่สุด หลังจากนั้นทางทีมกายภาพบำบัดหัวใจจะนัดผู้ป่วยมาเดินสายพานหรือปั่นจักรยานเพื่อเรียกความฟิตของหัวใจกลับคืนมาให้มากกว่าเดิม

ปัจจุบันการผ่าตัดหัวใจมีแนวโน้มที่จะผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากขึ้น มีการใช้การผ่าตัดร่วมกับการใส่ขดลวดในผู้ป่วยรายเดียวกัน เพื่อลดระยะเวลาการผ่าตัดและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น มีการฉีดสีเพื่อวินิจฉัยพร้อมควบคู่กับการผ่าตัดรักษา หรือการจี้หัวใจพร้อมกับการผ่าตัดในคราวเดียวกัน ซึ่งการที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ต้องมีเครื่องมือ และห้องผ่าตัดที่มีความจำเพาะ มีศักยภาพ ในห้องผ่าตัดไฮบริด (Hybrid operating room) ซึ่งทางโรงพยาบาลของเราเล็งเห็นความสำคัญและกำลังอยู่ในแผนพัฒนา


สุดท้ายแล้วอยากให้ประชาชนคนไทยดูแลสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการรักษาหากเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เพราะโรคหัวใจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เรากังวลกันครับ  ดังนั้นทาง ศูนย์ผ่าตัดหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์จึงขอเชิญประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานเสวนาภาคประชาชน ในโครงการให้ความรู้ประชาชน เรื่อง เทคโนโลยีในการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก” ในวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563  เวลา 09.00-12.00 น. ห้องประชุมอุดมสังวรญาณ ชั้น 23  อาคาร ๗๒ พรรษา มหาราชินี โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์  ผู้ที่สนใจสามารถขอรับคำปรึกษาและตรวจคลื่นหัวใจ ได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่  โทรศัพท์ 06-2416-4536  หรือร่วมบริจาคเพื่อสร้างห้องผ่าตัดหัวใจไฮบริดได้ที่ สำนักงาน มูลนิธิโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เพื่อห้องผ่าตัดหัวใจ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2289-7368 หรือทางเว็บไซต์ www.ckphosp.go.th

0 replies on “เทคโนโลยีในการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก (ตอนที่ 1)”