ทั้งนี้ มองว่าการแต่งกายเป็นการสร้างวินัยได้บ้าง แต่ไม่ได้มีส่วนปลูกฝังให้เยาวชนเคารพในสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นมากขึ้น ไม่อย่างนั้นคนที่ใส่เครื่องแบบมาทั้งชีวิตอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คงเคารพกติกาและกฎหมายของประเทศ ไม่ออกมาทำรัฐประหารจนทำให้บ้านเมืองเสียหายมากขนาดนี้
นายวันนิวัติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการมีอยู่ของเครื่องแบบนักเรียนที่ดีที่สุด คือการหาทางออกร่วมกัน โดยส่วนตัวมองว่าสังคมต้องมีกฎ แต่ต้องเป็นกฎที่ผ่านความเห็นชอบร่วมกันจากหลายฝ่าย เป็นข้อตกลงร่วมกันของสังคม ไม่ใช่การออกกฎจากมุมมองด้านเดียว โดยควรเชิญผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า นักเรียน มาหารือร่วมกันถึงข้อดีข้อเสีย จนกลายมาเป็นข้อตกลงร่วมกันในที่สุด เพื่อให้รองรับกับบริบทของสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ ทุกคนจึงต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด แต่พบว่าคนจนที่สุดในสังคมกลับมีค่าใช้จ่ายเครื่องแบบนักเรียนถึงร้อยละ 14.6 ของรายจ่ายด้านการศึกษาทั้งหมด ขณะที่คนรวยที่สุดมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพียงร้อยละ 4.3 เท่านั้น จึงขอเสนอให้สถาบันการศึกษาอาจกำหนด Dress Code เป็นธีมใหญ่เพื่อให้นักเรียนได้แต่งกายแบบตามกรอบกว้างๆ ที่ตกลงร่วมกัน เป็นต้น
นายวันนิวัติ กล่าวอีกว่า การศึกษาในปัจจุบัน ควรนำเอาหลักการของเรียนรู้เข้ามาประกอบกัน ควรให้ความสำคัญกับการตั้งคำถาม แต่การศึกษาขณะนี้กลับทำตรงกันข้าม ผู้บริหารสถานศึกษาหลายแห่งกลายเป็นสิ่งกีดขวางการเรียนรู้ของเด็ก จึงขอให้โรงเรียนปรับตัวด้วยการปฏิบัติตามคำสั่ง หรือระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการที่ให้สิทธิ์โรงเรียนตั้งกฎหรือกติกาบางอย่างเองได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียน การศึกษา หรือการแต่งกาย โรงเรียนควรเปิดใจที่จะปรับตัวให้เข้ากับผู้เรียนด้วย
“กฎก็ควรมี เพราะเราอยู่ในสังคม แต่ต้องเป็นกฎที่เห็นร่วมกัน ถ้ากฎที่ออกมาจากฝ่ายเดียว หรือห้ามใครนำเสนอความคิดเห็น อย่างนั้นเรียกว่า กดขี่ ดังนั้น กฎต้องเปลี่ยนแปลงได้ ผลสุดท้ายข้อตกลงร่วมกันจะเป็นอย่างไรก็ต้องมาอธิบายร่วมกัน” นายวันนิวัติ กล่าว