สสส.หนุน สร้างเมืองสุขภาวะ ชู “บ้านสายรุ้ง” ของไต้หวัน ตัวอย่างปรับตัวให้อยู่รอด

“สังคมเมืองรุกคืบเข้าหาเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราจะปรับตัวเรียนรู้ อยู่ในสังคมเมืองอย่างไร ให้มีสุขภาวะที่ดี คือเรื่องที่ทุกคนในแต่ละชุมชนต้องคิดร่วมกันได้” วรรคตอนสำคัญที่ชวนให้ทุกคนร่วมกันฉุกคิด ภายงานในงานมหกรรม “สุขภาวะสร้างได้ด้วยมือเรา”

งานนี้จัดโดย มูลนิธิพร้อมใจพัฒนาและสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขับเคลื่อนงานโครงการพื้นที่สร้างสรรค์สุขภาวะคนเมืองและชนบทจำนวน 40 เมือง กระจายทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมและยกระดับพื้นที่ในประเด็น สุขภาวะให้เป็นพื้นที่เมืองศูนย์การเรียนรู้ จำนวน 6 เมือง เมืองพื้นที่รูปธรรม จำนวน 12 เมือง และพื้นที่เมืองพัฒนา จำนวน 22 เมือง ให้เกิดขบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับภาคีทุกภาคส่วน อันจะนำไปสู่การเป็นเมืองสุขภาวะ เมืองแห่งความสุขของทุกคน ที่ประชากรในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งเสริมแกนนำเยาวชน คนรุ่นใหม่ ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เปลี่ยนจากวิถีชีวิตแบบชนบทมาเป็นสังคมเมืองถึง 60 % เทคโนโลยี และความเจริญทางเศรษฐกิจรุกคืบเข้าหาเรา และตัวเราเองก็เดินเข้าหาความเจริญด้วยเช่นกัน มีตัวอย่างหนึ่งของการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาความเป็นชุมชนก็ คือ บ้านสายรุ้ง ประเทศไต้หวัน เรื่องราวของบ้านหลังนี้เริ่มต้นเมื่อรัฐบาลของไต้หวัน ประกาศนโยบายจัดสรรที่ดินใหม่ เพื่อให้ประชาชนโยกย้ายไปอาศัยอยู่ในคอนโด แล้วเริ่มรื้อถอนหมู่บ้านเก่า ๆ เพื่อปรับพื้นที่ใหม่ ดังนั้นการจัดสรรพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลมีแนวคิดในการบริหารจัดการให้เป็นระบบ ระเบียบ บ้านของ “ลุงฟู่” ชายชราผู้เคยเป็นทหารผ่านศึก อยู่ในพื้นที่ซึ่งกำลังจะถูกรื้อถอน ไม่ใช่เรื่องง่ายของคนที่อาศัยอยู่บ้านหลังหนึ่งมาทั้งชีวิต เขาไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากจะไป คุณลุงฟู่ คิดอะไรไม่ออก ก็เลยซื้อสีมาวาดภาพบนตัวบ้าน วาดทุกวันวาดไปตามอารมณ์ศิลปิน จนกระทั่งวันหนึ่งมีนักศึกษาศิลปะเดินมาพบ แล้วเห็นว่าสิ่งที่ลุงฟู่ทำเป็นผลงานศิลปะชั้นครู จึงบอกเล่าให้อาจารย์ฟัง หลังจากนั้นข่าวกระจายในสังคมโซเซียล ผู้คนที่ทราบข่าวต่างให้ความสนใจบ้านของลุงฟู่ มาขอถ่ายรูป จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทำให้รัฐบาลมองเห็นประโยชน์ต่อผลงานศิลปะของลุงฟู่ จึงอนุญาตให้ลุงฟู่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ต่อไป และปรับพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ

“สิ่งที่ลุงฟู่ทำ เริ่มต้นจากความคิดที่ว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อแสดงถึงจุดยืน และความต้องการของเราเอง ไม่ใช่การรอคอย นิ่งเฉย แล้วปล่อยไป เขาเลือกใช้ศิลปะแสดงจุดยืน ” ผอ.สำนักส่งเสริมสร้างวิถีชีวิตสุขภาวะ ยกตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย หลายชุมชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาความเจริญที่เข้ามาคุกคามวิถีชีวิต และวัฒนธรรมอันดีงามในท้องถิ่น หนึ่งในชุมชนที่น่าสนใจ คือ กลุ่มโครงการบ้านมั่นคงเมืองสุรินทร์ โดยใช้หนังสือเป็นเครื่องมือสร้างเยาวชนของพวกเขาให้เป็นคนคุณภาพของสังคม

นางสุดใจ มิ่งพฤกษ์ ผู้ประสานงานโครงการบ้านมั่นคงเมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ ระบุว่าในจังหวัดมีการอ่านหนังสือต่อปีน้อยมาก จึงเกิดความคิดว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิดการอ่านหนังสือกันมากขึ้น เพราะการอ่านช่วยให้สมองของเด็กมีพัฒนาการทีดี และป้องกันเด็กติดมือถือ แท๊ปเลต แต่ปัญหาของชุมชนอยู่ที่การเข้าถึงหนังสือเพราะราคาหนังสือสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของพ่อแม่ โครงการบ้านมั่นคงจึงได้ของบประมาณมาจัดซื้อหนังสือ และรวบรวมหนังสือใหม่เข้ามา ทำเป็นกล่องหนังสือเดินทางไปตามชุมชนต่าง ๆ หมุนเวียนกันให้เด็กๆ และประชาชนที่สนใจได้เข้ามาอ่านหนังสือด้วยกัน ผลที่ได้รับก็คือเด็ก ๆ มีกิจกรรมทำได้รู้จักรักการอ่านหนังสือ มีความฉลาดรอบรู้มากขึ้น เราจะต้องพัฒนาสุขภาวะของคนในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชน ให้มีการเจริญก้าวหน้าในสังคมคนเมือง

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสริมเรื่องการพัฒนาสุขภาวะคนเมืองต่อว่า เวลานี้สังคมเมืองกำลังจะกลายเป็น ชนกลุ่มใหญ่ แล้วคนที่อยู่ในชนบทกำลังจะกลายเป็นชนกลุ่มน้อย จึงเกิดคำถามที่ว่า แล้วเราจะให้สังคมเมือง กลายเป็นนายของเราไหมคงตอบว่าไม่ เพราะเราต่างอยากเป็นเจ้านายของตัวเอง

“หลายคนถามว่าแล้วภาครัฐทำอะไรบ้าง ก็ต้องตอบว่า ทำหลายอย่าง แต่สุดท้ายแล้วโครงการที่ยั่งยืนที่สุดคือโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชนหรือคนในชุมชน ส่วนโครงการที่ทำแล้วไม่ใช่สิ่งที่ชุมชนต้องการก็ถูกทิ้งร้างโดยเปล่าประโยชน์ อย่างที่เราเคยเห็นกันมาก่อน”

มีตัวอย่างโครงการที่สร้างสุขภาวะคนเมืองที่ประสบความสำเร็จ ก็คือการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนจากเดิมเป็นพื้นที่รกร้างมีขยะทิ้งมากมาย แต่ปัจจุบันได้มีการพูดคุยกับคนในพื้นที่ชุมชนว่าพวกเขามีความต้องการอะไรบ้าง เสียงตอบรับที่ได้กลับมาส่วนใหญ่ คือพวกเขาต้องการพื้นที่จอดรถต้องการพื้นที่สำหรับเล่นกีฬาให้เด็กเตะฟุตบอลเล่นบาสเกตบอล มีพื้นที่สำหรับวิ่งและเครื่องออกกำลังกายเมื่อความต้องการของคนในชุมชนชัดเจนภาครัฐก็สามารถจัดสรรงบประมาณ เพื่อลงไปพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นชุมชนที่มีคุณภาพได้ง่ายและยั่งยืน

Written By
More from pp
Sea (ประเทศไทย) ผนึกดิจิทัลแพลตฟอร์มในเครือ มอบเงินสนับสนุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ ซื้อเครื่องมือแพทย์-อุปกรณ์ป้องกัน สู้วิกฤต COVID-19
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) เป็นตัวแทน Sea (ประเทศไทย) และบริษัทในเครือ ได้แก่ การีนา (ประเทศไทย) ช้อปปี้ (ประเทศไทย) และซีมันนี่ (ประเทศไทย)...
Read More
0 replies on “สสส.หนุน สร้างเมืองสุขภาวะ ชู “บ้านสายรุ้ง” ของไต้หวัน ตัวอย่างปรับตัวให้อยู่รอด”