ดร.วรวุฒิ คงศิลป์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ผู้บริหารร่วมอาวุโส บริษัท Winton Associates จำกัด (ลอนดอน, ประเทศอังกฤษ) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการระดมทุนระหว่างประเทศ มองทิศทางด้านธุรกิจในยุคปัจจุบันถึงการสร้างการเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นการหาพันธมิตรทางธุรกิจ การลงทุนในธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่หลากหลายรูปแบบ รวมถึงการเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทในการบริหารงานมากขึ้น และที่สำคัญคือ การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสาธารณะที่สามารถส่งผลให้บริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจมีการเติบโต และสามารถขยายพันธมิตรทางธุรกิจและเงินทุนที่มาจากสถาบันขนาดใหญ่ซึ่ง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ ทันต่อกระแสด้านธุรกิจในสังคมโลกที่มีการปรับเปลี่ยนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กลุ่มธุรกิจทั้งขนาดกลาง ขนาดใหญ่จึงให้ความสนใจในการระดมทุนในรูปแบบ “การระดมทุนระหว่างประเทศ” มากขึ้นในปัจจุบัน
ดร.วรวุฒิ คงศิลป์ ให้แนวทางว่า อย่างไรก็ดีการระดมทุนในประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างรัดกุม, และเข้มงวดตามแนวทางการกำกับดูแลโดยใช้วิธีการพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม (Merit-based) และยังไม่เป็นวิธีการเปิดเผยข้อมูลที่ให้ผู้ลงทุนตัดสินใจด้วยตนเอง (Disclosure-based) เหมือนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติชั้นนำของประเทศพัฒนาแล้วของโลกซึ่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, สิงคโปร์, ฮ่องกง, และออสเตรเลีย ทำให้บางธุรกิจยังไม่สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่หากในปัจจุบันมีช่องทางการระดมทุนระหว่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติชั้นนำของประเทศที่พัฒนาแล้วข้างต้นที่เปิดโอกาสให้บริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจ และต้องการที่จะให้ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีการดำเนินธุรกิจที่เติบโต,มั่นคง, และเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานใน บริษัท Winton Associates จำกัด (ลอนดอน, อังกฤษ)ที่เป็น Co Advisor มีความเชี่ยวชาญในการบริหารและจัดการระดมทุนระหว่างประเทศ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ผ่านสถาบันการเงินและกองทุนชั้นนำระดับนานาชาติ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์นานาชาติชั้นนำของโลกข้างต้น มองว่าปัจจุบันการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติในต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นโอกาสสร้างการเติบโตของธุรกิจที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเรามองว่า การระดมทุนสามารถเดินหน้าได้ทั้ง 2 ช่องทาง คือ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ และตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศควบคู่กันไป
ดร.วรวุฒิ คงศิลป์ ให้แนวที่คิดที่น่าสนใจว่า การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในระดับนานาชาติชั้นนำในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดที่มีการเติบโตสูง (Growth market) ใช้เวลาในการดำเนินการในระยะราวที่ค่อนข้างสั้น ประมาณ 8 – 9 เดือน (Catalist) ในตลาดนานาชาติของสิงคโปร์ ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียแปซิฟิก และบางประเทศที่ตลาดนานาชาติในอังกฤษ (AIM) ศุนย์กลางทางการเงินของยุโรป ใช้เวลาประมาณ 4 – 6 เดือน โดยไม่ต้องดำเนินการการยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยตรงอย่างในประเทศไทย ซึ่งผ่านเพียงตัวแทนหรือ FA (Financial Advisor and Regulator) ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก กลต. หรือ ตลาดหลักทรัพย์(Sponsor or Nominated Advisor) แทนเพียงที่เดียวเพื่อตรวจสอบและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหากผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยทุกขั้นตอน ภาคธุรกิจสามารถเข้าระดมทุนในตลาดได้ทันที
ดังนั้น “การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในระดับนานาชาติในต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเติบโตจากธุรกิจ เป็นการเติบโตจากทุน จากการเข้าหาแหล่งเงินทุนในส่วนทุน ที่เริ่มต้นจากการ (IPO)(Initial Public Offerring) โดยไม่เป็นส่วนหนี้ ซึ่งกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ หรือกลุ่มการลงทุนในต่างประเทศมองหาธุรกิจที่มีความต้องการในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติจากประเทศไทย โดยไม่จำเป็นต้องมีธุรกิจประกอบการ(Operation)ในต่างประเทศ และในปัจจุบันมีกลุ่มธุรกิจในประเทศไทยที่น่าสนใจ คือ กลุ่มธุรกิจด้านการแพทย์ เฮลท์แคร์ อาหารเสริม เอ็นเตอร์เทนเมนท์ อสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น การนำภาคธุรกิจในประเทศไทยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในระดับนานาชาติในต่างประเทศนั้น ปัจจุบันมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการเตรียมยื่นจดทะเบียนที่เราให้คำปรึกษาอยู่ราว 2 – 3 บริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน เราคาดว่าภายในสิ้นปี 2562 จะสามารถผลักดันภาคธุรกิจในประเทศไทยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติในต่างประเทศเพิ่มขึ้นราว 6 – 7 บริษัท”
ดร.วรวุฒิ คงศิลป์ ยังชี้ถึงผลกระทบด้านความเสี่ยงต่าง ๆ ในการระดมทุน ซึ่งมองว่าการระดมทุนทุกช่องทาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างก็มีความเสี่ยง โดยเฉพาะในเรื่องของสงครามทางการค้า เป็นผลกระทบที่มีผลต่อธุรกิจทั่วโลก ทั้งในแถบยุโรป เอเชีย หรือแม้กระทั่งประเทศไทย ซึ่งมองว่าปัจจัยที่มีผลกระทบในวงกว้างมากที่สุดกับตลาดทุน หรือตลาดหลักทรัพย์ คือ ปัจจัยทางทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค หากแต่การผลักดันให้ภาคธุรกิจมีการเติบโต ยังคงเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางจุลภาค และเชื่อว่าการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นานาชาติจะสามารถเป็นส่วนเสริมผลักดันให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของภาคธุรกิจในส่วนทุนต้องมั่นคงแข็งแรง มีสภาพคล่องที่ดีอันจะเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของภาคธุรกิจ ซึ่งหากภาคธุรกิจมีความคล่องตัว มีการเติบโตที่ดีจะส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในที่สุด ดังนั้น การจดทะเบียนในตลาดหุ้นในระดับนานาชาติในต่างประเทศ อาจเป็นอีกหนึ่งโอกาสของการผลักดันให้บริษัท หรือภาคธุรกิจมีการเติบโตที่ดี และมั่นคงในเชิงการพัฒนาธุรกิจในยุคปัจจุบัน หากมีการเข้าถึงแหล่งทุนที่ดีและรวดเร็วพร้อมในการผลักดันธุรกิจให้เกิดงานที่มีคุณภาพงานและมีประสิทธิภาพในอนาคต