19 พ.ย.63-จากนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 1 ปี ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาได้จากสถานพยาบาลมากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ การดำเนินการต่อไปในเฟส 2 นี้ จึงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของกัญชา ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ และการให้บริการด้านสุขภาพ
ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ว่า “นโยบายที่ผ่านมา เราดำเนินงานโดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งผลการดำเนินงานก็จัดอยู่ในระดับที่ดี บุคลากรทางการแพทย์เริ่มให้การยอมรับยากัญชามากขึ้น และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาได้จากสถานพยาบาลใกล้บ้าน”
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ “สถาบันกัญชาทางการแพทย์” เป็นองค์กรกลางในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ร่วมกับหน่วยงานทั้งใน และนอกกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในขณะนี้ได้มีการประชุมหารือกันจนได้ Road map ที่ชัดเจนแล้ว
ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สำหรับเฟสที่ 2 เราจะเน้นไปที่การพัฒนากัญชาให้มีมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดกัญชาที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ ซึ่งการพัฒนายังคงต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการ และประชาชนทุกคนที่ต้องการสร้างรายได้จากกัญชาจะต้องทราบว่า ในกฎหมายที่ผูกขาดให้รัฐดำเนินการจะต้องมีการแก้ไขมุมมอง แนวคิด รวมถึงต้องมีการเสนอแผนธุรกิจให้ชัดเจน และเป็นไปตามกฎหมาย
นอกจากนี้ นโยบายกัญชา 6 ต้น ก็ยังต้องดำเนินการต่อ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อการดูแลสุขภาพตนเอง ดังนั้น การดำเนินงานในเฟสที่ 2 ต่อจากนี้จึงเป็นการพัฒนากัญชาเพื่อยกระดับความสำคัญของเศรษฐกิจชุมชน ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพองค์รวมของประเทศ
เพราะในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะภาครัฐก็ต้องมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชน ในขณะเดียวกันการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในทุกช่องทาง ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน”
นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ได้ชี้แจงแนวทางการผลักดันกัญชาทางการแพทย์ในเฟส 2 ว่า “สถาบันกัญชาทางการแพทย์จะมีบทบาทหลัก คือ การขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งใน และนอกกระทรวงสาธารณสุข ผ่าน 3 กลไกหลัก คือ
การปรับข้อกำหนดและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินงาน (Regulation) การศึกษาวิจัย (Research) และการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง (Education) เนื่องจากการวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า กฎระเบียบจำนวนมากในขณะนี้ถือเป็นข้อจำกัดสำคัญในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย
ซึ่งต่อไปสถาบันกัญชาทางการแพทย์จะต้องร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำมาปรับข้อกำหนดและกฎระเบียบต่าง ๆ (Regulation) ให้เอื้อต่อการพัฒนากัญชาในบริบทของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น”
“ในส่วนของการศึกษาวิจัย (Research) เราจะทำงานร่วมกับหน่วยงานให้ทุนต่าง ๆ ในการกำหนดโจทย์วิจัยที่จะนำมาสนับสนุนการดำเนินงาน ลดความซ้ำซ้อนของหัวข้อวิจัยและทำให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด และสุดท้ายคือการสื่อสาร (Education) จากการรับฟังเสียงจากหลาย ๆ พื้นที่ พบว่า
ประชาชนยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาที่ไม่ถูกต้อง บุคลากรทางการแพทย์เองก็อาจจะยังขาดข้อมูลสนับสนุนการใช้ยากัญชาในการรักษา
ดังนั้น เราต้องใช้ประโยชน์จากงานวิจัยกัญชาที่ทั่วโลกทำอยู่มาสนับสนุนให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ปลอดภัย โดยเราจะเสนอแผนปฏิบัติการเร่งด่วน หรือ Quick win ที่ตั้งเป้าในการนำกัญชามาพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ต่อท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายในเดือนพฤศจิกายน และจะดำเนินการทันที
โดยในแผนนี้จะแบ่งการพัฒนาเศรษฐกิจออกเป็น 2 ระดับ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ คือ ระดับครัวเรือน โดยเน้นการลดรายจ่ายด้านการรักษาจากการใช้กัญชาเพื่อดูแลสุขภาพตนเอง และในระดับประเทศ ที่จะผลักดันให้มีการเชื่อมต่อต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ของผลิตภัณฑ์กัญชาที่จะจำหน่ายและส่งออกต่างประเทศ รวมถึงการบริการสุขภาพ (Wellness) จากกัญชา”
ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็มีความเห็นพ้องต้องกันในการที่จะพัฒนากัญชาเป็นเรือธงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ยังมีการพัฒนาสมุนไพรอื่น ๆ คู่ขนานไปด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกให้มากที่สุด ซึ่งการดำเนินงานต่อจากนี้ประชาชนคนไทยจะต้องได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจ”